สรยท. จัดสัมมนา CEO TALK :ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 2016 ระดมความเห็นภาครัฐ-เอกชน รับเออีซี

          สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย - สรยท. จัดสัมมนา CEO TALK : ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 2016 พร้อมดึงภาครัฐ-เอกชนระดมความเห็น มองอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หลังปรับใช้โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          นายวัชระ ธรรมศรี นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย - สรยท. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมเปิดเผยว่า "ในปี 2559 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะจะเริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายนำพาอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าสู่ซุปเปอร์คลัสเตอร์ ทางสรยท.จึงต้องจัดสัมนาครั้งนี้เพื่อระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของโลก"
  
         จากนั้นนายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานสัมมนา CEO TALK : ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 2016 พร้อมเปิดเผยว่า "การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ในประเทศ จะทำให้ไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้นอกจากนี้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบคลัสเตอร์เพื่อให้รวมกันเป็นอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในระยะแรกกำหนดรูปแบบคลัสเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อย่างเช่นยานยนต์ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นคลัสเตอร์เป้าหมายหลัก ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ส่งเสริมการผลิตยานยนต์พึ่งพาแบบห่วงโซ่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยกระดับคุณภาพการผลิต โดยรัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานเพื่อช่วยสนับสนุน
 
         สำหรับกิจกรรมเป้าหมายในการสนับสนุนคลัสเตอร์ยานยนต์ จะต้องเป็นอุตสาหกรรมเน้นการพัฒนาการผลิตเทคโนโลยีใหม่ ทั้งเครื่องยนต์  ยาง ชิ้นส่วนสำคัญที่ไม่มีการผลิตมาก่อน อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน ระบบส่งกำลังและเค่รื่องยนต์ โดยจะส่งเสริมยกเว้นภาษี 8 ปี  ยกเว้นอาการขาเข้าเพิ่มอีก และให้พิจารณาถิ่นที่อยู่ถาวรสำหรับผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น  นอกจากนี้เมื่อปีหน้าจะเริ่มเออีซี จะมีผู้บริโภคเกินว่าหกร้อยล้านในอาเซียน การเป็นซิงเกิลมาร์เก็ต อุตสาหกรรมยานยนต์จะช่วยให้อาเซียนเป็นฐานผลิตใหญ่ที่สุดของโลก  


  
          สำหรับโครงสร้างภาษีใหม่ จะจูงใจค่ายรถยนต์ให้นำเทคโนโลยีดีขึ้นมาใช้ ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากโครงสร้างภาษีใหม่จะช่วยในเรื่องรายได้และมาตรฐานเทคโนโลยีใหม่แล้ว  ยังช่วยลดการเจ็บป่วยจากภาคยานยนต์ ยังทำให้พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปในทิศทางที่ประชาคมโลกและสากลจะตอบรับ จะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในระยะยาวขยายตัวได้อีกอย่างน้อย 25-30 ปี  จึงเชื่อมั่นว่าในอนาคตแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายมิติ แต่จะยิ่งช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสดใสยิ่งขึ้น
 
           ด้านนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า  ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยเพิ่งเริ่มมี สัญญาณเล็กๆว่าจะฟื้นตัว ดัชนีผู้บริโภคดีขึ้นเล็กน้อย ค่อยๆฟื้นตัวช้าๆ เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยแปรผันค่อนข้างเยอะ ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ถึงเดือนตุลาคม มียอดขายในประเทศประมาณ6.2 แสนคัน ปีนี้เหลือเวลาอีกสองเดือน ถือเป็นช่วงไฮซีซั่น และเมื่อมีปัจจัยเรื่องภาษีสรรพสามิตใหม่ จะส่งผลให้ราคารถยนต์ ปรับขึ้นในปีหน้า จึงมีการดึงความต้องการซื้อของปีหน้ามาอยู่ปีนี้จำนวนหนึ่ง คาดว่าตัวเลขจำหน่ายในปีนี้ไปได้ถึง 7.8 แสนคัน ปีที่แล้วอยู่ที่ 8.8 แสนคัน เมื่อมองกันว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้าจะดีขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นหากเอาปีนี้เป็นฐาน ปีหน้าคงไม่ได้เท่ากับปีนี้ เพราะมีเงื่อนไขสำคัญคือ ภาษีใหม่ ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่พอมีศักยภาพซื้อได้ก็มาซื้อปีนี้ หากมองเฉพาะกำลังซื้อปีนี้จริงๆ แล้วจะอยู่ที่ 7.65แสนคัน ฮอนด้าคิดว่าเอาปีหน้ามาใช้ปีนี้ประมาณ 1.5 หมื่นคัน ดังนั้นปีหน้าก็คือ จะเหลือ 7.5 แสนคัน และเมื่อภาษีสูงขึ้นอีก ราคารถยนต์สูงขึ้นอีก ก็จะมีผลลบทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลงไปอีก

          แต่มีตัวช่วยคือจีดีพีของไทยที่หลายฝ่ายคาดว่าจะขยายตัวขึ้น 3% และเมื่อรัฐบาลมีการกระตุ้นให้เงินกระจายสู่คนชั้นกลางได้มากขึ้นก็จะช่วยเพิ่มยอดขายได้ ดังนั้นยอดขายปีหน้าอาจจะประมาณ 7.5 แสนคันบวกลบ


  
            ขณะนี้กำลังการผลิตรถยนต์ของไทยมากกว่า 2.9 ล้านคัน หากการลงทุนอีโคคาร์เฟส 2 เป็นไปตามที่ขอ  แต่เมื่อเปรียบกับตลาดในประเทศ ทำให้ต้องพึ่งการส่งออกทั้งหมด แต่การส่งออกมาก ก็มีความเปราะบางในตัว เช่น อัตราแลกเปลี่ยน การลดต้นทุนการผลิต สำหรับความร่วมมือทีพีพีที่รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะเข้าเป็น สมาชิกหรือไม่ เบื้องต้นอาจไม่กระทบไทยเท่าไหร่ แต่หากมาเลเซียและอินโดนีเซีย เข้าเป็นสมาชิกแล้วไทยไม่เข้าจะส่งผลกระทบ ขณะนี้คู่แข่งที่เป็นสมาชิกทีพีพีเข้า ไปไม่น่ากลัว เช่น เวียดนาม บรูไน  ส่วนการส่งออกยานยนต์ของไทยปีนี้ทำได้ดีกว่า ปีที่แล้ว การส่งชิ้นส่วนยานยนต์ไปต่างประเทศขณะนี้เราเข้มแข็งมาก  ฮอนด้าประเทศไทยส่งออกมากที่สุดในโลกแซงบริษัทแม่ญี่ปุ่นไปแล้วหากคิดจากจำนวนการส่งออกจากจำนวนคอนเทนเนอร์ ยิ่งหากเปิดเสรีด้านการค้าเพิ่มขึ้น จึงน่าจะไปได้ดีกว่านี้

           การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์จะเกิดผลกระทบราคารถแพงขึ้น  สรรพสามติขีดไว้ 3 เส้น คือ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 100 150 และ 200 กรัมต่อกิโลเมตร ถือว่าหยาบเกินไป เพราะมีรถยนต์บางรุ่น 170-180 กรัมต่อกม.  การปรับปรุงเครื่องยนต์แต่ละรุ่นให้ใกล้เกณฑ์ที่วางไว้เท่านั้นจึงจะสามารถลดการปล่อยไอเสียลงมาได้ แต่เป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงควรทำให้ขั้นบันไดถี่กว่านี้  เกณฑ์ดังกล่าวทำให้รถยนต์บางรุ่นต้องทำใจ คนซื้อต้องจ่ายมากขึ้น ดังนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลง รุ่นไหนเจอภาษีหนักยอดขายจะหายไป จะไปเติบโตรุ่นที่เสียภาษีน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างภาษีจะเป็นตัวชี้นำ การพัฒนา เพราะเราไม่ได้ปรับโครงส้รางภาษีมานาน พอเปลี่ยนครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะ เปลี่ยนอีกเมื่อไหร่ หากเรากำหนดตัวเลขการปล่อยไอเสียแบบตายตัวเช่นนี้ อาจจะพัฒนาไม่ทันเทคโนโลยี จึงหวังว่าอนาคตจะมีการปรับปรุงรายละเอียดภาษี ในส่วนนี้ด้วย

            ด้านคุณเพียงใจ แก้วสุวรรณ  รองกรรมการผจก.ใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสันมอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากพลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ไปประชุมการลดสภาวะโลกร้อน ท่านได้ประกาศในที่ประชุมว่าไทยจะลดมลภาวะ หรือกรีนเฮ้าส์เอฟเฟคต์ตามข้อตกลงที่ประกาศเอาไว้ร่วมกันว่า  20-25% ในปี 2030  โดยจะสนับสนุนรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

            จึงโยงมาถึงกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้นายกฯนำเสนอเมื่อตอนต้นปีว่าทำอย่างไรนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยให้ได้เพื่อตอบสนองการทำให้สภาวะโลกร้อนดีขึ้นได้ นายกฯให้กระทรวงต่างๆทำแผนสนับสนุนรถไฟฟ้า  ทุกหน่วยงานกำลังปั้นโรดแมปของตัวเอง นำมารวมกันเป็นโรดแมปของประเทศไทย

           คาดว่าปีหน้าคงเห็นชัดว่าไทยจะมีรถไฟฟ้าจะทำอย่างไร ขณะนี้เท่าที่เราได้เห็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพยายามพูดเรื่องรถบัสไฟฟ้า นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายกำลังสนับสนุนซุปเปอร์คลัสเตอร์ แต่จะออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไรต้องติดามอีกสักพัก คงเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปรถยนต์ในวันนี้ยังคงใช้เครื่องยนต์ใช้น้ำมัน ขณะนี้เรากำลังจะขยับไปใช้อีกขั้นคือไฮบริดจะเหมือนกับที่นายกฯพูดในเวทีการ ประชุมลดสภาวะโลกร้อน รถยนต์จะขยับไปทีละขั้น แต่พูดถึงระยะเวลาได้ไม่ชัดว่าจะเมื่อไหร่  ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพราะเมื่อมีไฮบริด เริ่มมีไฟฟ้าเข้าไปผสมเล็กน้อย จากจุดไฮบริดขยับขึ้นไปเป็นแบตเตอรี่อีวี ไม่มีเครื่องยนต์ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว การปล่อยไอเสียเป็นศูนย์หรือซีโร่อีมิสชั่น ตรงกับที่นายกพูด  

            นอกจากนี้ขณะนี้นี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการและเอกชน มีบริษัทที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและบุคคลที่สนใจมารวมตัวกันตั้งเป็นสมาคมยานยนต์สมาคมไฟฟ้าไทย เปิดตัวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา นิสสันได้เข้าเป็นสมาชิกด้วย เพราะถือว่าเราเป็นผู้นำรถไฟฟ้า โดยนำรถนิสสันลีฟ ใช้ไฟฟ้าโดยตรง มาโชว์ในงานนี้ ได้พัฒนาแบตเตอรี่ สามารถเก็บไฟฟ้าได้มากขึ้น สามารถขับได้ถึง 280 กม.

          มุมมองนิสสันถึงทิศทางในอนาคต เราไม่ได้พูดถึงปีนี้หรือปีหน้า แต่เรามองไกลกว่านั้น เพื่อวางแนวทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตต่อไป เพื่อพัฒนารถยนต์เทคโนโลยีสะอาดซีโร่อีมิสชั่น  จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของยานยนต์ไทย

           ส่วนนายปาสคาล  เศรษฐบุตร รองประธานฝ่ายขายและความพึงพอใจของลูกค้า บริษัท มาสด้าเซลส์ ประเทศไทย จำกัด มองว่า "พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสำหรับ ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีหน้าหลังจากมั่นใจว่าทิศทางเศรษฐกิจปีหน้าคงดีขึ้นในระดับหนึ่ง แม้ว่ารถยนต์ในทุกทุกเซ็กเมนต์จะหดตัว รถกระบะจากยอดขาย 3 แสนคันในปีที่แล้ว จะเหลือ 2.6 แสนคันในปีนี้ ส่วนรถเก๋งเล็กอย่างบีคาร์และอีโคคาร์ จาก2.2  แสนคันในปีที่แล้วจะเหลือ 1.7 แสนคันในปีนี้  และซีคาร์ก็จะลดลง แต่รถเอสยูวีเติบโตขึ้น ประมาณ 48-49% ผู้บริโภคที่มีเงินจะไปซื้อรถเอสยูวีมากขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับมาสด้า 2 ยอดขายจะเติบโตจาก 6.2 พันคันในปีที่แล้วเป็น 1.4 หมื่นคันในปีนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงเพราะผู้บริโภคสนใจเทคโนโลยีมากขึ้น พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอีกด้านคือ ลูกค้าใช้สื่อโซเชี่ยลเพื่อหาข้อมูลเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้วลูกค้าใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียในการเลือกซื้อรถ 33% ของลูกค้าทั้งหมดมาเป็น 50% ในปีนี้ ทำให้ลูกค้ามีความรู้มากขึ้น และลูกค้าจะคาดหวังจากรถยนต์ที่ซื้อมากขึ้น ดังนั้นฝ่ายขายก็ต้องปรับตัวมากขึ้น  ต้องระวังในเรื่องคุณภาพสินค้า โดยขณะนี้มาสด้าจะเน้นผลิตรถที่มีน้ำหนักเบาลง เครื่องยนต์ใหม่ แพลทฟอร์มใหม่ ประหยัดมากกว่าเดิม  อย่างไรก็ตามในอนาคตรถยนต์จะไปสู่ยุคแห่งรถไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ทิศทางของมาสด้าพยายามสร้างแบรนด์ให้ชัดเจนกว่าดิม เราไม่สู้เรื่องรถยนต์ราคาถูก แต่เราจะเป็นแบรนด์ทางเลือกสำหรับรถพรีเมี่ยม เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เราจึงพยายามสร้างบุคลิกของแบรนด์ มาสด้ามากขึ้น เพราะผู้บริโภคมักมองที่แบรนด์มากขึ้นเรื่อยๆ

           ด้านนายองอาจ พงษ์กิจวรศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า "ปีนี้ยอดผลิต ในประเทศและส่งออกเพิ่ม ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ประมาณ 1.6 ล้านคัน แม้ยอดขายในประเทศจะตกลง แต่ได้ความต้องการซื้อปีหน้าและการส่งออกมาช่วย ยอดผลิตรถยนต์ปีที่แล้วประมาณ 1.9 ล้านคัน ปีนี้เดิมเราตั้ง 2 ล้านคัน แต่อาจจะได้จริงประมาณ 1.9 ล้านคัน

            ไทยได้เปลี่ยนจากผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าขายในประเทศแล้วคือส่งออกประมาณ60% ขายในประเทศ40% และสถานการณ์ในประเทศปีหน้าคงไม่ต่างจากปีนี้ สำหรับการส่งออกรถยนต์ปีนี้ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 9 % เพิ่มมากจากอีโคคาร์และปิกอัพ แต่อีโคคาร์จะเพิ่มมากกว่าปิกอัพ ปีนี้ได้แน่ๆประมาณ1.2 ล้านคัน ส่วนรถจักรยานยนต์ เดิมปีนี้คิดว่าจะผลิตได้ 2ล้านคัน แต่ล่าสุดน่าจะ ได้ประมาณ 1.9 ล้านคัน ส่วนการผลิตรถยนต์ในอาเซียน อินโดนีเซียลดลง 10% กว่า เพราะขึ้นภาษีน้ำมัน 30% กว่า ปีนี้ถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้แค่ 9 แสนกว่าคัน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วได้กว่า 1 ล้านคัน ปีนี้คงสรุปที่ 1.1 ล้านคัน นอกจากนี้การส่งออกยังลดลงเมื่อนับถึงเดือนตุลาคม ส่งออกได้แค่ 1 แสนคันเท่านั้น ส่วนมาเลเซียใกล้เคียงกับปีที่แล้ว สำหรับเวียดนามกับฟิลิปปินส์เติบโตขึ้น แต่ยังไม่มาก หากดูตลาดประเทศในอาเซียน ไทยมีการผลิตรถยนต์ 20 % จากการผลตทั้งหมดในอาเซียน ไทยผลิตประมาณครึ่งหนึ่งของอาเซียน อาเซียนผลิตรถยนต์ได้ คิดเป็นอันดับ 6ของโลก เช่นเดียวกับยอดขายก็อันดับ 6 ของโลก มีทั้งข้อดีและเสีย

            ข้อดีคือจะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนให้แข็งแกร่งขึ้น  ข้อเสียคือทำให้เกิดการแข่งกันเอง  นโยบายของอินโดนีเซียคือเอาชนะไทยให้ได้ ไทยจึงหนีการแข่งขันไม่พ้น สิ่งสำคัญคืออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะต้องคำนึงถึงการลดต้นทุน การผลิตให้มาก จะช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงหรืออีโคโนมี่ออฟสเกล
            สำหรับตลาดการส่งออกในอาเซียน ปี 2018  น่าจะถึง 4 ล้านกว่าคัน การส่งออกไปทั่วโลก ไทยได้อานิสงส์มากที่สุดจากกลุ่มโอเชียโอเชีย ส่วนอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย ยอดส่งออกก็ขึ้นหมด แม้ว่ายุโรปทางไทยไทยจะโดนตัดจีเอสพี แต่ยอดส่งออกก็ยังเพิ่มขึ้น ส่วนปิกอัพก็เพิ่มขึ้น มีแค่ตะวันออกกลางกับแอฟริกาที่ไทยส่งออกน้อยลง สำหรับยอดส่งออกรถยนต์ทั่วโลกทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 88 ล้านคัน แต่จะเลือกจากประเทศไหนบ้างขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลก และฐานที่ตั้งการผลิต ดังนั้นหากไทยไม่ทำอะไรเชื่อว่าอินโดนีเซียจะตามไทยทันแน่นอน  อาเซียนเป็นตลาดสำคัญ ไทยส่งออก 2 แสนคันคิดเป็น 18% ของยอดการส่งออกทั้งหมด สิ่งที่น่าห่วงมากคือ ปัจจุบันเราผลิตประมาณ 2  ล้านคัน แต่ศักยภาพการผลิตไทยมีถึง 3 ล้านคัน ต้องมาคิดดูว่าทำยังไง ให้ผู้ผลิตอยู่รอดได้ จึงต้องเร่งหาวิธีส่งออก   หากเป็นอย่างนี้จะลงทุนเพิ่มยาก ต้องหาช่องเติมให้เต็มด้านการลงทุน เช่น อาร์แอนด์ดีจะเติมอย่างไร ชิ้นส่วนอย่างไหนยังไม่เต็ม  โรงถลุงเหล็ก คุยกับโรงเหล็กหลายรายอยากลงทุน แต่ติดปัญหาหลายอย่าง ดังนั้นหากเราไม่มีส่งเสริมโรงถลุงเหล็กก็จะเติบโตยาก อยากเสนอรัฐบาลว่า นอกเหนือจากใช้มาตรการภาษีมาเป็นตัวดึง ต้องสร้างบ้านให้ดีเพื่อดึงดูดนักลงทุน ทั้งเรื่องหลายเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน บุคลาการ ศูนย์ทดสอบ กฎระเบียบต่างๆ ทำอย่างไรให้ประเทศเรามีอุตสาหกรรมการผลิตติดอันดับต้นๆของโลก  เราต้องมีโปรดักต์แชมเปี้ยนเพราะตลาดในประเทศเราเล็กมาก หลังจากเริ่มที่ปิกอัพ อีโคคาร์ ก็ต้องวางแผนเรื่องรถไฟฟ้า แต่ทุกเทคโนโลยีที่ลงไปเราจะดูว่าจะอยู่แค่ไหน จะตามเทคโนโลยีชั้นนำของโลกแค่ไหน เพื่อทำให้เราส่งออกได้ และทำให้ศักยภาพของเราเหมาะสม แต่หากตามมากเกินไปต้นทุนการผลิตจะสูง แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่พูดคือรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์เรายอดขายมี 3 หมื่นคันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6หมื่นล้านบาท ตอนนี้เริ่มวางแผนส่งออกแล้ว แต่เราจะทำยังไงให้เราเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ต้องสนับสนุนรถบัสและรถบรรทุกด้วย  รวมทั้งควรสนับสนุนรถจักรยานยนต์ที่เราผลิต 2 ล้านคัน เราเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซียผลิตได้ 7 ล้านคัน และเวียดนามกำลังไล่ตามมา  ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะพัฒนาอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์พัฒนาจักรยานยนต์ของโลกให้ได้
 
          ปิดท้ายงานสัมมนาครั้งนี้ด้วยความเห็นจากนายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์  ประธานจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 ซึ่งยังเชื่อว่าตลาดในประเทศยังมีกำลังซื้ออยู่ เพราะรถหรูรถราคาแพงยอดยังเป็นบวก ชี้ว่าคนไทยระดับรายได้เงินบีบวกยังมีเงินอยู่ แต่ใช้เวลาตัดสินใจนานเล็กน้อยในการซื้อ จึงเป็นเหตุผลที่เบนซ์มีรถมาโชว์ใน งานนี้ถึง 32 รุ่น  เพราะเริ่มรู้สึกว่าต้องลงมาเล่นกับรถญี่ปุ่น แต่รถญี่ปุ่นก็เบ่งขึ้นไป สู้กับรถหรู ตลาดเริ่มมีการปรับตัว เมื่อก่อนเคยอยู่เฉพาะพรีเมี่ยมก็ไม่พอ ต้องลงมาแย่งข้างล่าง ข้างล่างก็ขึ้นข้างบนก็ต้องเจอกันตรงกลาง  ยังเชื่อว่าตลาด เมืองไทยยังมีโอกาสไปได้อีก เพราะคนเป็นเจ้าของรถมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับ จำนวนประชากรไทย คิดเป็นไทย 20 คนต่อรถ 1 คัน 

Visitors: 880,634