ทดสอบ Hyundai IONIQ5 เส้นทางกรุงเทพฯ – อยุธยา..รถดี ช่วงล่างเยี่ยม ภายในกว้างขวาง แต่ราคาแอบแรงไปนิด
1 มีนาคม 2567
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมงาน Autoindy ของเราได้รับเชิญ ไปร่วมทดสอบยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่จากค่ายแดนกิมจิ Hyundai IONIQ5 บนเส้นทาง กรุงเทพฯ-อยุธยา ไปกลับรวมระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร โดยการเดินทางในครั้งนี้ เริ่มต้นจาก IONIQ LAB บนถนนสุขุมวิท มุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วนที่แยกบางนา ก่อนจะมุ่งตรงตามทางด่วนยาวไปจนถึงด่วนบางปะอิน เข้าสู่เมืองอยุธยา ซึ่งเส้นทางดังกล่าวนี้เราจะพบกับสภาพการจราจรที่แทบจะครบทุกรูปแบบทั้งรถติด รถโล่ง ทางแคบในเมือง ไฮเวย์ที่สามารถทำความเร็วได้
แต่ก่อนจะไปถึงการทดสอบ ขอเล่าถึงสเปคของเจ้า Hyundai IONIQ5 กันแบบคร่าว ๆ สักนิดนะครับ
Hyundai IONIQ5 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีพื้นฐานการดีไซน์มาจากรถยนต์รุ่นคราสสิกที่สร้างชื่อมาในอดีตของ Hyundai คือ Hyundai PONY แต่ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้น
Hyundai IONIQ5 ถูกออกแบบภายนอกมาให้ดูล้ำสมัย ด้วยลายเส้นที่เป็นเหลี่ยมสันชัดเจน ฝากระโปรงหน้ารูปตัววี ดีไซน์ให้มีความโค้งนิด ๆ ด้วยดีไซน์แบบ Clamshell รับกับไฟหน้าและไฟท้ายดีไซน์แบบ Parametric Pixel มือจับเปิดประตูเป็นแบบเรียบไปกับประตูรถ โดยจะกางออกเมื่อปลดล็อค ในรุ่นท็อปคือ First Edition จะมีเพิ่มหลังคา Vision Roof และเปลี่ยนล้อจาก 19 นิ้วในรุ่นรองเป็นขนาด 20 นิ้ว
ภายในมาพร้อมดีไซน์หรูหรา ทันสมัย พวงมาลัยเป็นแบบ 2 ก้าน พร้อมปุ่มมัลติฟังก์ชั่นควบคุมระบบต่าง ๆ และระบบ Adaptive Cruise Control พร้อมปุ่ม Drive Mode ที่เลือกได้ 3 Mode คือ Eco, Normal, Sport ด้านหลังพวงมาลัยติดตั้งก้าน Paddle Shift สำหรับปรับอัตราความหน่วง 3 ระดับ และ iPaddle คันเกียร์เป็นแบบหมุนอยู่ที่ข้างพวงมาลัย ระบบเบรกมือเป็นไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Hold เบาะคู่หน้าปรับไฟฟ้า สามารถปรับเบาะอุ่นและเย็นได้ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ แยกซ้าย-ขวา เบาะคนขับสามารถปรับเอนนอนได้ด้วยดีไซน์แบบ Zero Gravity ช่วยให้นอนได้อย่างสบาย เบาะแถว 2 สามารถปรับพับ 60/40 เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุก
จอกลางสำหรับแสดงข้อมูลการขับขี่และเครื่องเสียงขนาด 12.3 นิ้ว พร้อมลำโพง BOSE นอกจากนี้ยังมีจุดชาร์จ USB 4 Port พร้อม Wireless Charger ที่ด้านหน้า
Hyundai IONIQ5 แบ่งเป็น 3 รุ่นย่อย โดยมีขุมพลัง และความจุของแบตเตอรี่ให้เลือกดังนี้
- รุ่น Premium มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 170 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 8.5 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ 185 กม./ชม. ขนาดแบต 58 kWh วิ่งได้ 384 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน WLTP สามารถชาร์จ 0-100% ใช้เวลา 4.59 ชม.
- รุ่น Exclusive มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 217 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 7.4 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ 185 กม./ชม. ขนาดแบต 72.6 kWh วิ่งได้ 481 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน WLTP สามารถชาร์จ 0-100% ใช้เวลา 6.09 ชม.
- รุ่น First Edition มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 217 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 7.4 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ 185 กม./ชม. ขนาดแบต 72.6 kWh วิ่งได้ 451 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน WLTP สามารถชาร์จ 0-100% ใช้เวลา 6.09 ชม.
โดยทั้ง 3 รุ่น สามารถรองรับการชาร์จเร็วด้วยไฟ DC ได้ถึง 350 kW ชาร์จ 10-80% ใช้เวลา 17.16 นาที
ช่วงล่างของ Hyundai IONIQ5 ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น ด้วยฐานล้อที่มีความยาวถึง 3.0 เมตร ซึ่งถือได้ว่ายาวที่สุดในรถขนาดบอดี้ใกล้เคียงกัน ส่งผลให้การยึดเกาะถนนเพิ่มขึ้น ส่วนระบบรองรับการสั่นสะเทือนนั้น ด้านหน้าเป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สัน สตรัท ส่วนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ และดูดซับแรงกระแทกด้วยช็อคอัพแบบ High performance damper ระบบเบรกเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ
นอกจากนี้ Hyundai IONIQ5 ยังมาพร้อม Hyundai SmartSense เทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูงซึ่งประกอบด้วย ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Smart Cruise Controlwith Stop and Go , ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉิน, ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉินที่ทางแยก, ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน, ระบบควบคุมรถให้อยู่กลางเลน, ระบบเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยหลัง, ระบบป้องกันการเปิดประตูเมื่อมีรถวิ่งมาด้านข้าง, ระบบกล้องมองภาพจุดอับสายตา, ระบบเตือนจุดอับสายตา, ระบบเตือนความเหนื่อยล้า และระบบกล้องรอบทิศทาง 360 องศา
ทดสอบจริง..กับสภาพการจราจรอันหลากหลาย
ในการทดสอบครั้งนี้ เราได้ขับ Hyundai IONIQ5 รุ่น First Edition หรือรุ่นท็อป โดยเส้นทางการทดสอบจะพบกับสภาพการจราจรที่หลากหลาย ทั้งรถติด ทั้งทางโล่ง ๆ บนทางด่วน ดังนั้นจึงสามารถทดสอบสมรรถนะของรถได้หลายรูปแบบ
สำหรับการเซ็ตติ้งรถเมื่อเริ่มต้น โหมดการขับขี่ที่เราเลือกใช้เป็น Eco Mode โดยในช่วงแรกเมื่อขับออกจาก IONIQ LAB ก็เจอกับรถติดบนถนนสุขุมวิททันที เราพบว่า IONIQ5 ใน Eco Mode เป็นรถที่ออกตัวได้นุ่มนวล เร็วแต่ไม่กระชากเหมือนรถไฟฟ้าหลาย ๆ รุ่น ขับง่าย ขับสบาย เบาะนั่งกระชับตัว มีตัวดันหลังที่ช่วยให้นั่งสบายมากยิ่งขึ้น ในการขับขี่มีความคล่องตัว พวงมาลัยสามารถคอนโทรลรถได้อย่างแม่นยำ น้ำหนักพวงมาลัยดี ไม่เบาเกินไป ในจังหวะที่ต้องกดคันเร่งก็ตอบสนองได้ดี เมื่อลองใช้ Paddle Shift ปรับค่าความหน่วงก็ใช้งานได้ดี แต่มีจุดสังเกตอยู่นิดหน่อยคือเวลาที่เบรก รถจะคล้ายมีอาการไหลนิด ๆ เหมือนจะเบรกไม่อยู่ แต่พอเติมน้ำหนักเท้าลงไปอีกนิดรถก็เบรกทันที ซึ่งผู้ขับขี่อาจจะต้องปรับตัวเล็กน้อยกับจังหวะเบรกของรถรุ่นนี้
เมื่อขึ้นทางด่วน ในจังหวะที่ถนนโล่ง เมื่อลองเร่ง IONIQ5 ในโหมด Eco ก็ตอบสนองกับคันเร่งได้เป็นอย่างดี มาไว แต่ไม่กระชาก มาแนวขับสบาย ๆ แต่เมื่อลองคิกดาวน์ ก็พุ่งพอสมควร เพียงพอกับการขับใช้งาน เร่งแซงไม่ต้องลุ้น ต่อจากนั้นเราก็ลองปรับโหมดการขับขี่ จาก Eco Mode ในตอนแรก มาเป็น Normal Mode ก็พบว่าอัตราเร่งดีขึ้นอย่างรู้สึกได้ ยิ่งในโหมด Sport ยิ่งเห็นได้ชัด รถจะพุ่งมากขึ้นขับสนุกมากขึ้น นอกจากนี้ระบบ Generative หรือระบบการหน่วงเพื่อชาร์จไฟกลับก็จะปรับมาเป็น Level สูงสุดเพื่อช่วยทำหน้าที่เหมือน Engine Break ให้โดยอัตโนมัติด้วย
สำหรับเรื่องการทรงตัวในย่านความเร็วสูงบนทางด่วน พบว่าช่วงล่างของรถคันนี้ มาในสไตล์แน่น หนึบ แต่ไม่กระแทกตึงตัง เกาะถนน เข้าโค้ง หรือเปลี่ยนเลนเร็ว ๆ ได้อย่างมั่นใจ
ในความเร็วสูง IONIQ5 ถือเป็นรถที่สามารถกันเสียงจากภายนอกได้ดี ทำให้ภายในรถเงียบ ในช่วงความเร็วประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็พบว่าแค่เริ่มจะมีเสียงลมเบา ๆ ยังสามารถฟังเพลง หรือพูดคุยกับผู้ร่วมทดสอบในรถได้แบบสบาย ๆ ไม่ต้องตะโกนคุยกัน
หลังจากนั้นเราก็มาทดลองระบบตัวช่วยต่าง ๆ เช่น ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน ก็สามารถทำได้ดี เมื่อทดสอบด้วยการค่อย ๆ ขับเซไปหาเส้นถนนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว รถก็ดึงกลับแบบเนียน ๆ ส่วนระบบ Smart Cruise Controlwith Stop and Go ก็ทำงานได้แม่นยำ การปรับความเร็วตามรถคันหน้าค่อนข้างนิ่มนวล สามารถปรับระยะห่างระหว่างคันได้ 4 ระดับ
สำหรับอัตราสิ้นเปลืองนั้น ในการทดสอบครั้งนี้ เราไม่ได้ตั้งใจที่จะเน้นการขับประหยัดเพื่อในการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองกันอย่างจริงจัง แต่ก็ขอสรุปมาพอเป็นแนวทางนะครับ การทดสอบรอบนี้ ขบวนรถทดสอบได้วิ่งบนเส้นทางที่มีสภาพการจราจรแทบทุกรูปแบบ ทั้งรถติดบนถนนสุขุมวิท รถติดบนทางด่วนยาว ๆ หลายช่วงทั้งขาไปและขากลับ มีช่วงรถโล่งที่สามารถทำความเร็วได้เต็มที่ โดยรวมจึงเป็นการทดสอบแบบ “ใช้งานจริง” มีการทำความเร็วในหลายช่วง ความเร็วเฉลี่ยช่วงทางโล่งอยู่ที่ 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ได้เน้นทดสอบความประหยัด ซึ่งเมื่อจบระยะการทดสอบประมาณ 220 กิโลเมตร จากพลังงาน 100% ในตอนเริ่มเดินทาง เมื่อกลับมาคืนรถ ก็พบว่าพลังงานเหลือ 47% ซึ่งก็หมายความว่าหากใช้งานจริงรถคันนี้น่าจะวิ่งได้เกือบ 400 กิโลเมตร หรือมากกว่านั้นหากขับไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ซิ่งมากนัก
ในช่วงขากลับ ผมได้มีโอกาสไปนั่งเบาะหลัง ด้วยส่วนสูง 182 ซม. ก็ยังนั่งได้โดยที่หัวไม่ติด Head Room แต่ที่น่าทึ่งมากก็คือในส่วนของ Lag Room หรือที่วางขา ด้วยขายาว ๆ ของผม ก็ยังเหลือพื้นที่ไปจนถึงหลังเบาะคนขับกับร่วม ๆ 20 ซม. เพียงพอที่จะยกขามานั่งไขว่ห้างกันเลยทีเดียว ซึ่งก็มาจากฐานล้อที่ยาวมากของเจ้า Hyundai IONIQ5 นั่นเองครับ
โดยสรุป Hyundai IONIQ5 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าใช้อีกคันหนึ่ง ด้วยดีไซน์ที่ล้ำสมัย ภายในกว้างขวาง นั่งสบายทั้งเบาะหน้า และเบาะหลัง มีการขับขี่ที่ดี อัตราเร่งดี ช่วงล่างนุ่มนวล แต่เกาะถนนมาก มีระบบความปลอดภัยล้ำสมัยครบครัน แม้ราคาแอบแรงไปหน่อย คือ Premium ราคา 1.699 ล้านบาท, Exclusive ราคา 1.899 ล้านบาท และ First Edition ราคา 2.399 ล้านบาท แต่หากใครที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีล้ำ ๆ ระบบอำนวยความสะดวกและระบบความปลอดภัยครบครัน และไม่ติดเรื่องงบประมาณรถรุ่นนี้น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอีกรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะในรุ่นกลางคือรุ่น Exclusive น่าจะเป็นรุ่นที่คุ้มค่าที่สุดในแง่การใช้งานด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นอีกเพียง 2 แสนบาท เมื่อเทียบกับรุ่นเริ่มต้นแต่ได้ระยะวิ่งที่มากที่สุดคือ 481 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แม้จะไม่ได้ล้ออัลลอยด์ 20 นิ้ว และหลังคาแก้วก็ตาม