ศูนย์วิจัย MOVE มจธ. นำโดย รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ชูเเคมเปญ “Move Forward For The Better Breath” พร้อมเสนอเเนวทาง สู่ลมหายใจไร้ฝุ่นด้วยการเดินทางที่ยั่งยืน

1 ธันวาคม 2563

          เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and VehicleTechnology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ร่วมบรรยายภายใต้หัวข้อ “มองไทย คิดไกล ก้าวทันโลก สู่การเดินทางที่ยั่งยืน”ภายในงาน EV Tech Forumจัดโดย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับ Reed Tradexณ ไบเทค บางนา

          ท่ามกลางสถานการณ์ PM 2.5 ที่กลับมาในทุก ๆ ปีในช่วงฤดูแล้งของประเทศไทย รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล กล่าวว่า ความท้าทายในปัจจุบันของประเทศไทยด้านการใช้ยานยนต์เพื่อการเดินทางที่ยั่งยืนมีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ โดย ประเด็นเเรกคือ ปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศโดยเฉพาะปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ส่วนใหญ่มีต้นเหตุของ PM 2.5 มาจากมลพิษการใช้ยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดมานานแล้ว แต่คนไทยเริ่มมาตระหนักถึงปัญหา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วยกระแสข่าวสารเรื่องการส่งผลกระทบต่อสุขภาพของ PM 2.5 ในส่วนประเด็นที่สอง คือ เรื่องการต่อยอดของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ตามที่บริษัทข้ามชาติได้เข้ามาตั้งฐานการผลิต ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของโลก อย่างไรก็ตามความต้องการของประชาชนเริ่มมีความสนใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อลดและแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ ดังนั้นการทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศที่สามารถรักษาความเป็นผู้นำของอาเซียน และปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่จึงเป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่สำคัญ



            ดังนั้นการแก้ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศจากในภาคขนส่ง รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล จึงเสนอแนวคิด “การเดินทางที่ยั่งยืน (Sustainable Mobility)” หมายถึง การเดินทางและขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยไม่สร้างปัญหาต่อคนรุ่นหลัง และมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งนี้ แนวคิด 3P สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เเก่

            1. Planet (โลก) กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้
            2. People(คน) คนในสังคมต้องตระหนักถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นและการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน
            3. Prosperity(ความมั่งคั่ง)กิจกรรมที่เราทำสามารถ สร้างคุณค่าและมูลค่าให้ประเทศได้ ทั้งนี้จุดสมดุลตรงกลางของ 3P เราจะเรียกว่า ความสามารถสู่ความยั่งยืน (Sustainability)

           โดยมีหลักการของการเดินทางเเละขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การหลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือ การลด (Avoid/Reduce) ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคือ Work From Home ที่หน่วยงานหลายแห่งเริ่มให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ เพื่อลดการเดินทาง ส่งผลให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น (System Efficiency) 2. การปรับเปลี่ยน(Shift) การเดินทางโดยหันมาใช้การเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะซึ่งเป็นการเดินทางร่วมกันส่งผลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในเชิงของการประหยัดพลังงานและการระบายมลพิษทางอากาศ หรือที่เราเรียกว่าการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ (Travel Efficiency) และ 3. การพัฒนา(Improve) ยานยนต์ให้ใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Vehicle Efficiency)


          นอกจากนี้ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล เน้นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่กำลังมุ่งสู่แนวคิดที่เรียกว่า CASEได้เเก่ 1. C คือ Connected Vehicle ยานยนต์ที่มีการเชื่อมโยงสื่อสารกัน ซึ่งคล้ายคลึงกับโทรศัพท์มือถือ ที่มีอินเตอร์เน็ต เช่น รถยนต์จะสามารถสื่อสารกับรถยนต์อีกคันหนึ่งได้ หรือรถยนต์ถ่ายโอนพลังงานระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถจ่ายพลังงานจากรถยนต์กลับคืนไปที่ระบบเครือข่ายไฟฟ้าได้ 2. A คือ Autonomous Vehicleยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยตอนนี้ระดับของการขับขี่เคลื่อนมี 5 ระดับ และ 5 เป็นระดับสูงสุด เป็นการขับขี่ไร้คนขับโดยสมบูรณ์ 3. S คือ Shared Mobility ธุรกิจการใช้รถยนต์ร่วมกันซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ของรถยนต์ให้คุ้มค่า และ 4. E คือ ElectricVehicle ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นพื้นฐานของยานยนต์สมัยใหม่ โดยคาดว่าในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า รถยนต์รุ่นใหม่ จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100%เกือบทั้งหมด


          การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่บนแนวคิด CASE เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์ความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้นได้ ดังนั้นจะต้องอาศัยความความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมที่จะนำไปสู่ทางออกร่วมกัน กล่าวคือ ภาครัฐ จะมีบทบาทสำคัญมากเนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบาย แก้ไขกฎระเบียบ และ ภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ รวมทั้งการริเริ่มโครงการต่าง ๆ หรือทำให้เกิดธุรกิจใหม่ (Start up) ส่วน ภาควิชาการ จะมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและ พัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรของประเทศ ภาคเอกชน จะมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้งานได้จริง โดยมีราคาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม และสุดท้ายสำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชน จะต้องมีส่วนร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการเดินทางในวันนี้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเดินทางที่ยั่งยืน สู่ลมหายใจไร้ฝุ่น “Move forward for the better breath”และจะนำไปสู่ความสามารถสู่ความยั่งยืน (Sustainability)  เป็นความสามารถของสังคงมนุษย์ในการดำรงอยู่ได้อย่างไม่สิ้นสุดภายใต้วัฐจักรธรรมชาติของโลกใบนี้                

Visitors: 1,498,435