ทดสอบ All New Honda City RS ซิตี้คาร์เครื่อง 1.0 ลิตร เทอร์โบฯ ที่แรงเกินตัวไปไกลกว่าที่คาด

 

       เมื่อไม่นานมานี้ Autoindy ได้นำรถยนต์ซิตี้คาร์รุ่นใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานมานี้อย่างเจ้า All New Honda City เจนเนอเรชั่นที่ 5 มาขับทดสอบ ด้วยความสงสัยเพราะหลาย ๆ คนที่ได้ทดสอบมาก่อนหน้าพูดเป็นเสียงเดียวว่า “แรงเหลือเกิน” ดังนั้นทีมงานของเราจึงรีบติดต่อไปยังบริษัท ฮอนด้า ออโต้โมบิล เพื่อติดต่อขอยืมรถรุ่นดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือให้รถ All New Honda City รุ่น RS มาให้เราได้ทดสอบ

         สำหรับรถยนต์ฮอนด้าซิตี้นี้ เปิดตัวในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และต่อเนื่องมาจนถึงเจนเนอเรชั่นที่ 4 ด้วยยอดขายสะสมกว่า 4 ล้านคัน ใน 60 ประเทศ โดยล่าสุดในปี 2562 ปีเดียว ฮอนด้า ซิตี้ สามารถขายได้ถึง 100,000 คันเลยทีเดียว ก่อนที่จะเปิดตัวรุ่นล่าสุด เจนเนอเรชั่นที่ 5 ออกมา

          ในการทดสอบครั้งนี้เราเลือกเส้นทางกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี เป็นเส้นทางทดสอบ เพราะถนนค่อนข้างโล่ง สามารถหาจังหวะลองความเร็วและอัตราเร่งได้บ้าง และยังสามารถเลือกเส้นทางย่อยที่มีทางคดโค้งให้พอจะลองฟิลลิ่งของช่วงล่างได้ด้วย

          สำหรับสเปกของ All New Honda City นี้ เป็นรถที่ถูกดีไซน์อัพเกรดขึ้นให้ทรงพลังมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีขนาดเครื่องที่ลดลง เพื่อให้มีความประหยัดมากกว่าเดิม

          ตัวรถภายนอก แม้ว่าจะมีมิติของตัวถังใกล้เคียงกับของเดิม แต่ก็ถูกปรับเส้นสายต่าง ๆ ให้ดูโอ่โถงและโฉบเฉี่ยวมากขึ้น ไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ดีไซน์ใหม่ รับกับกระจังที่ปรับให้ดูคล้ายกับรถในซีรีย์เดียวกันที่เปิดตัวไปก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น Honda Accord หรือ Honda Civic พร้อมไฟ Day Time Running Light ทรงสวย ปิดท้ายไฟท้ายปรับใหม่ให้ดูโฉบเฉี่ยวและแตกต่างมากขึ้น

          ส่วนล้อเป็นล้ออัลลอยด์ที่เริ่มต้นที่ 15 นิ้วในรุ่นเริ่มต้น แต่ในรุ่น RS ที่เรานำมาทดสอบเป็นล้อดีไซน์สปอร์ตขนาด 16 นิ้ว นอกจากนี้ในรุ่น RS นี้ยังเพิ่มความโดดเด่นด้วยกระจังหน้า กระจกมองข้าง มือจับประตู สปอยเลอร์หลัง และเสาอากาศแบบครีบฉลามสีดำตัดกับตัวรถอย่างสวยงาม

          สำหรับภายในรถนั้นก็ถูกดีไซน์มาใหม่ ที่มีการวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ได้อย่างลงตัว พอดีมือในการควบคุมส่วนต่าง ๆ สำหรับในรุ่น RS นั้นจะเพิ่มเติมด้วยเบาะหนังกลับดีไซน์สวยที่เดินด้ายแดงเสริมความสปอร์ตให้มากยิ่งขึ้น พร้อมด้วยชุดแผงหน้าปัด “สีแดง” สุดเท่

          เมื่อเข้าไปนั่งก็พบว่าเบาะนั่งโอบกระชับตัวได้ดี แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมก็คือเบาะนั่งจะไม่สามารถปรับได้ต่ำเท่ารุ่นเดิม การนั่งจะมีลักษณะของการนั่งห้อยขามากกว่าเดิม แต่ก็นั่งสบายไปอีกแบบ แต่สิ่งที่ชอบมากๆ ที่ถูกปรับปรุงขึ้นมาก็คือการลดขนาดของคอนโซลกลางให้แคบลง และในช่วงที่ต่อกับคอนโซลหน้าก็มีการ “เว้า” ให้ลึกเข้าไป ทำให้คนที่ขายาว ๆ อย่างผมซึ่งสูงเกิน 180 ซม.สามารถนั่งได้โดยที่ขาซ้ายไม่เบียดกับคอนโซลกลาง ทำให้นั่งสบายกว่าเดิมมากๆ เรื่องการเก็บเสียงก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี เสียงจากรอบ ๆ ตัวเข้ามาในห้องโดยสารน้อย แต่เสียงจากถนนและยางยังพอมีให้ได้ยินบ้าง ส่วนเสียงลมจะเริ่มรบกวนเมื่อใช้ความเร็วเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป

          All New Honda City เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด ที่พกพาขุมพลังตัวใหม่ขนาด 1.0 ลิตร DOHC VTEC TURBO แบบ 3 สูบ 16 วาล์ว ซึ่งตามสเปกสามารถรีดแรงม้าออกมาได้ถึง 122 ตัว ที่รอบเครื่องยนต์ 5,500 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุดได้ถึง 173 นิวตัน-เมตร ที่รอบเครื่องยนต์ระหว่าง 2,000-4,500 รอบต่อนาที ซึ่งตามตัวเลขที่โชว์อยู่ก็เทียบได้กับรถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรรุ่นเดิม ๆ ได้เลยทีเดียว ซึ่งพละกำลังทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดไปยังล้อและยางด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่าเกียร์ CVT7 สปีด ที่สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้จากพวงมาลัย

          ตัวเลขเคลมจากโรงงานมาว่า All New Honda City มีอัตราการบริโภคน้ำมันสุดประหยัดอยู่ที่ 23.8 ลิตร และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 5 พร้อมรองรับน้ำมัน E20 ได้ด้วย

            สำหรับการขับขี่นั้นก็พบว่า All New Honda City มีอัตราเร่งที่เกินตัวไปมากจริง ๆ ซึ่งจากการประเมินของฮอนด้านั้น บอกว่าเครื่องยนต์ตัว 1.0 Turbo ตัวนี้สามารถให้พละกำลังได้เทียบเท่ากับเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตรได้แบบสบาย ๆ ซึ่งในความรู้สึกเมื่อขับขี่ก็เห็นจริงตามนั้นจริง ๆ เพียงแต่ รู้สึกว่าทีมงานวิศวกรได้มีการปรับเซ็ตการตอบสนองของคันเร่งให้มีการหน่วง ๆ เอาไว้นิดหน่อย ดังนั้นในการขับขี่จะรู้สึกได้ว่าคันเร่งจะมีน้ำหนักมากกว่าเดิมพอสมควร แต่เมื่อเพิ่มแรงในการกดคันเร่งลงความเร็วของรถก็พุ่งขึ้นตามไปด้วยแบบทันใจ ซึ่งก็น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้ว เพราะหาก “ปล่อย” ความแรงได้แบบจัดเต็มด้วยคันเร่งเบา ๆ แบบเดิมแล้วล่ะก็ หากคนไม่คุ้นก็อาจจะคุมรถได้ยากไปสักหน่อย

          ในโหมดปกติ หรือ D อัตราเร่งอาจจะไม่ฉูดฉาดมากนัก เรียกว่าเป็นโหมดที่เน้นการขับสบาย ๆ แต่การตอบสนองก็ทันใจอยู่ไม่น้อยในช่วงของการเร่งแซง แต่ถ้ายังไม่สะใจพอ ลองผลักคันเกียร์มาที่โหมด S หรือโหมดสปอร์ต สมองกลจะสั่งให้รถสามารถลากรอบได้ยาวนานกว่าเดิม ใช้รอบเครื่องได้สูงกว่าเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนเกียร์ ดังนั้นจึงทำให้สามารถลากรอบ เพิ่มแรงม้าได้มากกว่าเดิม อัตราเร่งและความเร็วจึงเพิ่มมากขึ้นแบบเห็นได้ชัดเจน

          สำหรับข้อติในเรื่องการขับขี่นี้ คงจะมีแค่เรื่องของ Paddle Shift ที่มาพร้อมกับรุ่น RS ที่ผมนำมาทดสอบ ซึ่งหากอยู่ในเกียร์ D เมื่อใช้ Paddle Shift ลดเกียร์ลง เพื่อชะลอความเร็วสำหรับเข้าโค้ง หรือเร่งแซง จะพบกว่าเกียร์ปรับกลับไปยังเกียร์ D เร็วเกินไปสักนิดในความรู้สึก ซึ่งกลายเป็นว่าถ้าต้องการจะ “เล่นเกียร์” ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นโหมดเกียร์ S ไปเลย จึงจะสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างต่อเนื่อง

          ส่วนในเรื่องการขับขึ้นเขา-ลงเขา แนะนำให้ใช้เกียร์ S เป็นหลัก โดยในรุ่น RS ก็ใช้ Paddle Shift ลดเกียร์เหมือนปกติ แต่สำหรับในรุ่นล่างลงไปซึ่งไม่มี Paddle Shift ผู้ใช้อาจจะต้องปรับพฤติกรรมการขับขี่สักหน่อย เพราะ All New Honda City รุ่นใหม่ ได้ตัดเกียร์ 2 และเกียร์ L ออกไปจากแพทเทิร์นเกียร์หลัก แต่ชดเชยมาด้วยสมองกลล้ำๆ ที่จะรับรู้ได้ ถึงความเร็ว และรอบเครื่องยนต์ในขณะที่เบรกลดความเร็ว ในขณะที่ใช้เกียร์ S ซึ่งจะช่วยดีงรอบ และล็อครอบเอาไว้ให้เหมาะสมกับความชัน โดยผู้ขับขี่จะต้องเบรกให้ลึกลงกว่าปกติสักหน่อยจนรู้สึกว่ารถเปลี่ยนเกียร์ต่ำลง อันจะดูได้จากการที่รอบเครื่องยนต์ดีดขึ้นสูง แล้วให้เลี้ยงคันเร่งเบาๆ ประคองความเร็วให้คงที่เพื่อเข้าโค้ง หรือลงเนินไป โดยไม่เหยียบคันเร่งเพิ่มระหว่างที่อยู่ในโค้งหรือระหว่างที่ลงเนิน ซึ่งจะเป็นการสั่งให้รถ Shift เกียร์ขึ้นสูง เพียงเท่านี้คุณก็จะขับรถขึ้นเขา-ลงเขา ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นแล้วล่ะครับ

          มาดูในเรื่องการควบคุมทิศทางกันบ้าง All New Honda City จัดได้ว่าเป็นรถที่พวงมาลัยแม่นยำมากรุ่นหนึ่ง น้ำหนักพวงมาลัยไม่เบาจนเกินไป ทำให้มั่นใจการการหมุนเลี้ยวเข้าโค้ง รวมทั้งยังแม่นยำ และคล่องตัวเหลือเฟือเมื่อต้องหักหลบอะไรสักอย่าง ขณะเดียวกันระบบเบรกแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม ก็ตอบสนองได้ไว น้ำหนักเบรกดี คอนโทรลได้ง่าย ไม่ค่อยมีอาการเบรกด้าน ๆ คล้ายจะเบรกไม่อยู่เหมือนรุ่นเก่า ๆ

          สำหรับช่วงล่างของ All New Honda City นั้น ด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังเป็นทอร์ชั่นบีม ที่ถูกปรับเซ็ตมาให้ “เฟิร์ม” และมีความ “สปอร์ต” กว่าเดิมแบบรู้สึกได้อย่างชัดเจน มีความแน่น หนึบ ช็อคอัพสามารถดึงสปริงได้แบบอยู่หมัด อาการโคลงเคลงนิด ๆ ในรุ่นเดิมหายไปเกือบหมด ทำให้สามารถขับขี่ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น เข้าโค้งได้หนึบมากกว่าเดิม บนถนนที่ขรุขระนิด ๆ ก็ดูจะนิ่งกว่าเดิม ซึ่งอาการเหล่านี้สำหรับคนขับคงจะชอบมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกันความหนึบแน่นที่มีมากขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดความกระแทกกระทั้นกับผู้โดยสารมากกว่าเดิมพอสมควรโดยเฉพาะเมื่อเจอหลุมที่มีขนาดใหญ่สักหน่อย หรือเวลาที่ปีนลูกระนาด

          ส่วนตัวแล้ว สำหรับผมคิดว่าความกระด้างที่เพิ่มขึ้นสามารถรับได้เมื่อเราขับรถด้วยความเร็วสูง ความแน่นหนึบก็ช่วยให้ขับได้สนุกขึ้น คุมรถได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น แค่อาจจะต้องปรับตัวให้ขับรถนุ่มนวลขึ้นกว่าเดิม หรือขับให้ช้าลงกว่าเดิมเมื่อเจอหลุมใหญ่ ๆ คอสะพาน หรือลูกระนาด

          อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากจะไปลองสัมผัสเจ้า All New Honda City กันแล้ว ไปเลยครับ ไปลองดูเองให้รู้ว่าจริงอย่างที่ผมว่ารึเปล่า แต่กระซิบให้นิดว่ารับรองว่าคุณจะต้องร้องว๊าวกับอัตราเร่งอันเกินตัวของเครื่องยนต์ 1.0 ลิตรของรถคันนี้อย่างแน่นอนครับ

Visitors: 880,202