รถรุ่นใหม่..ไร้ยางอะไหล่ ถ้ายางรั่ว ทำอย่างไร ???

ลมรั่ว..ยางแบนสนิทแบบนี้ก็งานเข้าสิครับ

 

            สำหรับใครที่เพิ่งออกรถรุ่นใหม่ ๆ ในช่วงปีหลัง ๆ นี้ จะพบว่ารถบางรุ่นจะไม่ได้มียางอะไหล่มาให้ด้วย หลายคนก็เลยเกิดคำถามว่าแล้วถ้าขับ ๆ ไปเกิดยางรั่ว ยางแบนขึ้นมา จะทำอย่างไรกันดีล่ะครับท่าน วันนี้ Autoindy Technic มีคำตอบครับ

           ในรถรุ่นปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอุปกรณ์มาตรฐานประจำรถไปจากเดิมอยู่พอสมควร บางรุ่นก็จะเปลี่ยนเป็นยางอะไหล่ขนาดเล็ก ที่แทบจะเหมือนยางรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งบางคนเอาไปเรียกกันเล่น ๆ ว่ายางหนังสติ๊กจากความบางของมัน ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คือการลดพื้นที่จัดเก็บยางอะไหล่ให้น้อยลง แล้วเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่บรรทุกให้พวกชอบคนสมบัติได้มีที่เก็บของได้จุใจมากขึ้น ซึ่งยางประเภทนี้จะถูกออกแบบมาให้ใช้แค่ชั่วคราวด้วยความเร็วต่ำ ๆ ระยะทางใกล้ ๆ เพื่อวิ่งไปศูนย์หรือร้านยางเท่านั้น

           จากคอนเซ็ปดังกล่าว หลาย ๆ ค่ายจึงเลือกการจัดชุดอุปกรณ์ซ่อม ปะยาง พร้อมปั๊มลมใส่ หรือที่เรียกรวม ๆ กันว่า ชุดปะยางฉุกเฉิน มาใส่ไว้ในท้ายรถแทน แต่ด้วยความไม่คุ้นเคย หลายคนที่รถยางแบน พอคุ้ยท้ายรถเจอกล่องอะไรหน้าตาแปลก ๆ ก็ถึงกับต้องเกาหัวกันเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันครับ ว่าหากรถของคุณให้ชุด Kit สำหรับปะยางมา คุณต้องทำกับมันอย่างไร

           ก่อนอื่นมาทำความดูก้นก่อนครับว่าในชุดมันมีอะไรมาให้บ้าง ซึ่งอุปกรณ์ของชุดปะยางฉุกเฉินแนว ๆ นี้มักจะมีชิ้นส่วนหลักๆ อยู่ 3 ส่วนก็คือ

  1. ถังหรือกระป๋องน้ำยาอุดรอยรั่ว
  2. ปั๊มลม
  3. สายเติมลม

          สำหรับวิธีการใช้งานนั้นก็ง่าย ๆ ครับ อันดับแรกเราต้องมาดูกันก่อนว่ารถของเรายางแบนจากอะไร หากเกิดจากการจอดไว้นานจนลมซึมออกเอง ก็ใช้แค่ปั๊มลมเติมเข้าไปก็จบเรื่อง แต่ที่เราจะคุยกันวันนี้ขอเน้นไปในกรณีที่ยางรถของคุณเกิดโดนอะไรตำมาจนลมรั่วออก

ตะปูควงตัวเบ้อเร่อ..จะเหลืออะไร แบนสนิทเลยครับ

 

         พอดี๊..พอดี กับเราไปเจอเคสของรถหรูคันหนึ่งที่โดนตะปูเกลียวตำจนยางแบน แถมตอนที่มาพบก็แบนจนติดดินไปเรียบร้อย ซึ่งหากขับบดไปจนถึงร้านปะยางรับรองว่าได้เปลี่ยนยางทั้งเส้นแน่นอน แถมดีไม๊ดีจะเสียหายไปถึงล้อแม็กซ์เอาเสียด้วย สิ่งที่โชคดีก็คือรถคันนี้มีชุดปะยางติดตั้งมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานด้วย เอาล่ะครับ..เริ่มกันเลยดีกว่า

           อันดับแรก เราต้องปะยางให้เรียบร้อยก่อนโดยเริ่มต้นด้วยการพิจารณารูที่รั่ว ถ้าสามารถมองเห็นได้ ส่วนใหญ่แล้วการใช้น้ำยาปะยาง มักจะใช้ได้กับรอยรั่วขนาดเล็กไม่เกิน 5 มม. หากแผลที่มีเป็นรอยใหญ่มาก หรือเป็นแผลฉีกบริเวณแก้มยางก็มักจะอุดไม่อยู่ ดังนั้นหากเราดูแล้วพบว่าอยู่ในตำแหน่งหน้ายางที่พออุดได้ แต่รอยที่พบมีวัสดุตำอยู่ เช่นเป็นตะปูเกลียวซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่เกิน 5 มม. เราอาจจะไม่ต้องดึงตะปู หรือวัสดุที่ตำอยู่ออก เพื่อให้ตะปูนั้นเป็นตัวช่วยอุดรูรั่วไปด้วยในตัว แต่ถ้าเป็นวัสดุ หรือรูขนาดเล็กเราก็สามารถดำเนินการใช้น้ำยาปะยางอุดรอยรั่วได้เลยครับ

นำชุดอุปกรณ์มาประกอบกัน โดยนำกระป๋องน้ำยามาต่อกับปั๊ม แล้วต่อสายเข้าสู่จุ๊บลม

 

          ในกรณีของรถคันนี้ ตัวน้ำยาปะยาง เป็นแบบที่ไม่ได้มีการอัดแรงดันอยู่ในตัว การทำงานต้องอาศัยปั๊มลมในชุดเป็นตัวผลักดันน้ำยาเข้าไปสู่ภายในยาง ก็ทำง่าย ๆ ครับ คือเปิดฝากระป๋องน้ำยาแล้วขันเกลียวเข้าไปกับช่องด้านบนของปั๊มลม แล้วต่อสายปั๊มลมด้านที่ปกติจะติดกับปั๊มลม เข้ากับช่องต่อบนกระป๋องน้ำยา พร้อมต่อสายท่อลมอีกด้านเข้าไปที่จุ๊บลมเหมือนเราเติมลมปกติเลยครับ

          เมื่อต่อไฟเข้ากับปลั๊กที่จุดบุหรี่ของรถเรียบร้อย ก็เปิดสวิตช์เดินเครื่อง ปั๊มลมก็จะค่อย ๆ อัดลมพร้อมน้ำยาผ่านท่อลมเข้าไปในยางช้า ๆ ในขั้นตอนนี้เราอาจจะเติมลมให้เกินจากสเปกตามเพลทข้างรถไปสักเล็กน้อย เช่นตามเพลทระบุให้เติมลม 34 ปอนด์ เราก็อัดเข้าไปเพื่อสัก 38 ปอนด์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาไม่น่าเกิน 15 นาทีเท่านั้น

 เติมลมตามสเปกของยาง โดยดูจากเกจวัดบนปั๊มลม อาจจะเติมเกินไปอีกสักนิด เผื่อยังมีอากาศรั่วออกช่วงที่น้ำยายังไม่เซ็ตตัว

 

         พอลมพร้อมน้ำยาถูกอัดเข้าไปจนถึงพิกัดที่ต้องการแล้ว ก็นำรถไปขับช้า ๆ หรือขับเดินหน้าถอยหลังเพื่อให้น้ำยากลิ้งไหลไปเคลือบภายในยางจนทั่ว หลังจากที่เสร็จขั้นตอนนี้หากเรามองดูที่ตรงรูรั่วก็จะพบว่ามีน้ำยา ที่มีสภาพคล้ายยางเหลว ๆ ไหลมาพอกอยู่ที่ปากรูจนเต็มและทำหน้าที่อุดรอยรั่วไปในตัว

          จริง ๆ มาถึงตรงนี้ หากจะวิ่งต่อไปเลยก็ได้นะครับ แต่ผมแนะนำว่ารอสักครู่ให้น้ำยาอุดรอยรั่วเซ็ตตัวสักนิด อาจจะสัก 10-15 นาที แล้วเช็คลมยาง ปล่อยลมให้ตรงตามสเปกแล้วก็ขับไปได้เลย

น้ำยาไหลมาอุดรูรั่วจนเต็ม เมื่อเซ็ตตัวเรียบร้อยก็จะหายรั่วครับ

 

          ข้อควรระวังก็คือน้ำยาอุดรอยรั่วพวกนี้ ถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ถาวร รวมทั้งยังไม่สามารถรองรับความเร็วสูง ๆ ได้ ดังนั้นต้องดูสเปก และขับรถด้วยความเร็วตามสเปกเพื่อไปยังร้านยาง แล้วปะยาง หรือเปลี่ยนยางให้เรียบร้อย ยกตัวอย่างของน้ำยาชุดที่เราใช้กับรถในตัวอย่างนี้ จะมีสติ๊กเกอร์ติดเอาไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้เพียง “80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” เท่านั้นและบางยี่ห้อจะมีการกำหนดระยะทางเอาไว้เช่นวิ่งได้ไม่เกิน 300 กิโลเมตร เพราะอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจากการวิ่งระยะยาว ๆ จะส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพของน้ำยาปะยางครับ อย่างไรก็ดี มีน้ำยาบางยี่ห้อที่มีอายุการใช้งานและประสิทธิภาพสูงกว่าที่กล่าว ดังนั้นแนะนำว่าให้อ่านคู่มือกันทุกครั้งนะครับ จะได้ใช้งานได้ถูกต้อง

         อ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ ก็คงพอที่จะใช้งาน “ชุดปะยางฉุกเฉิน” ที่นิยมติดตั้งมาในรถรุ่นใหม่ ๆ กันแล้ว ส่วนคนที่ไม่มีเจ้าชุดปะยางแบบนี้อยู่ แต่อยากได้มาติดรถไว้เผื่อฉุกเฉินก็ลองไปหาซื้อได้ตามร้านประดับยนต์ใหญ่ ๆ หรือตามแผนกประดับยนย์ตามห้างสรรพสินค้าก็ได้ครับ โดยน้ำยาปะยางจะมีทั้งแบบที่ต้องใช้ปั๊มลมเหมือนที่เราแนะนำในบทความนี้ หรือเป็นแบบที่เป็นกระป๋องสเปรย์พร้อมสายอัดน้ำยาในตัวที่พร้อมใช้งานได้ง่าย ๆ แค่นำไปต่อกับจุ๊บลมแล้วก็กดให้น้ำยาไหลเข้าไปก็เรียบร้อยก็ครับ

ตัวอย่างกระป๋องน้ำยาอุดรูรั่ว

ต้องดูสเปกความเร็วหลังจากใช้น้ำยาด้วยนะครับ..อย่างรุ่นนี้วิ่งได้ 80 กม./ชม. ครับ

 

Visitors: 880,298