ทดลองขับ ALL NEW MITSUBISHI TRITON จัดหนัก...บุกเชียงใหม่ ขึ้นเขา ลงห้วย ทางเรียบ ทางฝุ่น แบบครบรส

              เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัท มิตซูบิชิ ได้เชิญทีมงาน Autoindy.net ของเราไปร่วมทดสอบสมรรถนะของรถกระบะตัวแรงเวอร์ชั่นใหม่ของค่ายตราเพชร ที่เพิ่งอวดโฉมไปไม่นานอย่าง All New Mitsubishi Triton ซึ่งตามข้อมูลของรถรุ่นนี้ ถูกระบุมาว่ามีการเปลี่ยนแปลง อัพเกรดใหม่หมดทั้งรูปโฉมภายนอก ภายใน รวมไปถึงระบบช่วงล่าง และระบบความปลอดภัยทั้งหมด โดยทางทีมงานมิตซูบิชิ ได้เลือกเส้นทางบนยอดเขาที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศไทย อย่าง “ดอยอินทนนท์” จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นบททดสอบรถกระบะรุ่นใหม่ที่มาพร้อมคอนเซ็ป “แกร่ง ลุยทุกอุปสรรค”

              เมื่อเราเดินทางถึงสนามบินเชียงใหม่ และนั่งรถตู้ต่อไปยังโรงแรม... เพื่อฟังบรรยายเกี่ยวกับเส้นทางการทดสอบ ก็ทำให้ทราบว่าการทดสอบครั้งนี้ “จัดเต็ม” ทั้งทางเรียบ ทางเขา ทางฝุ่น รวมไปถึงเส้นทางสไตล์ออฟโรดอีกด้วย เรียกได้ว่ามากันครบ ๆ ให้รู้กันไปเลยว่าจะ “แกร่ง ลุยทุกอุปสรรค” จริงดังว่าหรือไม่

              เอาล่ะครับ..อย่าได้เสียเวลา ไปพบกับบรรยากาศการทดสอบได้เลยครับ

              เส้นทางช่วงแรกของการทดสอบ คือการเดินทางบนทางเรียบ มุ่งหน้าจากโรงแรม...ใน อำเภอหางดง ไปยังดอยอินทนนท์ ซึ่งบนทางเรียบเจ้า All New Mitsubishi Triton ก็สร้างความแปลกใจ อันนำพาไปสู่ความมั่นใจให้กับเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะช่วงล่างใหม่ ที่ด้านหน้าเป็นปีกนกคู่ กับด้านหลังที่เป็นระบบแหนบที่ปรับค่า K มาอย่างลงตัว ยิ่งเมื่อจับคู่กับช็อคอัพฯ ที่มีกระบอกใหญ่กว่าเดิมก็ยิ่งทำให้การการขับขี่มีความสบาย นุ่มนวลมากขึ้น แต่ในขณะที่ต้องเข้าโค้ง ก้ยังรักษาการทรงตัวเอาไว้ได้เป็นอย่างดี จนรู้สึกได้ว่าหากหลับตาแล้วขึ้นมานั่งในรถคันนี้ล่ะก็ อาจจะแยกไม่ออกเลยทีเดียวว่านั่งอยู่บนรถกระบะ หรือนั่งอยู่บนเอสยูวีหรู ๆ เรียกได้ว่ากระบะยุคนี้สามารถพัฒนาช่วงล่างไล่ตามรถเอนกประสงค์เอสยูวี ได้แบบหายใจรถต้นคอเลยทีเดียว

              อีกอย่างที่ผมชอบใจสำหรับการขับขี่ในช่วงนี้ก็คือ พวงมาลัยที่คม แม่นยำ ไม่เบาหรือหนักเกินไป ทำให้การควบคุมรถทำได้ง่าย เข้าโค้งได้อย่างนิ่มนวล และนิ่งมาก ๆเมื่อผสานกับช่วงล่างดี ๆ ที่นุ่มนวล แต่คงความหนึบแบบรู้สึกได้ ยิ่งทำให้สามารถขับขี่ได้สนุกสนานยิ่งขึ้น

              อีกส่วนที่โชว์สมรรถนะออกมาอย่างชัดเจนก็คือขุมพลังที่แม้ว่าจะเป็นเครื่องยนต์คลีนดีเซล บล็อกเดิม รหัส 4N15 แบบ 4 สูบ MIVEC VG Turbo ที่ให้แรงบิด 430 นิวตันเมตรที่รอบเครื่องยนต์ 2,500 รอบต่อนาที และให้แรงม้าถึง 181 ตัว ที่ 3,500 รอบต่อนาที แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกได้ถึงการขับขี่ที่เปลี่ยนไปแบบชัดเจนก็คือการอัพเกรดชุดส่งกำลังจากอัตโนมัติ 5 สปีด เป็น 6 สปีด ที่เซ็ตอัตราทดมาแบบลงตัวสุด ๆ ให้แรงบิดอันฉูดฉาด คล่องตัวในขณะออกตัวและเร่งแซง ขณะเดียวกันก็ทดรอบให้ต่ำลงในช่วงความเร็วสูง ซึ่งแน่นอนว่าการเซ็ตในสไตล์นี้ ย่อมส่งผลให้มีความประหยัดเชื้อเพลิงได้มากขึ้นในการเดินทางไกลอย่างแน่นอน อีกทั้งในการขับขี่เกียร์รุ่นใหม่นี้ก็ยังปรับเปลี่ยนอัตราทดได้อย่างนุ่มนวล แทบจะไม่มีการกระชาก กระตุกมากวนใจอย่างชัดเจนเลยทีเดียว

              หลังจากผ่านเส้นทางเรียบมาจนถึงดอยอินทนนท์แล้ว การทดสอบในช่วงต่อไปก็คือการเดินทางเข้าสู่เส้นทางออฟโรด ซึ่งแม้ว่าจะเป็นในช่วงหน้าแล้ง แต่สภาพเส้นทางที่เข้าไปเจอ ก็โหดพอสมควร กับเส้นทางเลาะเลียบแนวเขากลางป่าขุนวาง แนวต่อเนื่องจากเทือกเขาถนนธงชัยตะวันออก ซึ่งบนพื้นเป็นดินแดงที่แห้งผาก กลายสภาพเป็นฝุ่น ผสานกับร่องน้ำเก่า และร่องล้อของรถที่เข้ามาลุยเอาไว้ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านหน้า บางช่วงยังเป็นโค้งหักศอก โค้งตัวยู ที่ทั้งแคบ ทั้งชัน บางช่วงก็ต้องวิ่งเลียบขอบเหวแคบ ๆ ในช่วงนี้เราก็ได้ทดสอบสมรรถนะของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังสำหรับบางคนที่อาจจะยังไม่ทราบ

              ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อของมิตซูบิชิ ถือเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ด้วยการผสมผสานระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทุกแบบที่มีอยู่ทั่วไปเข้ามาไว้ในตัว ภายใต้ชื่อ Super Selec 4WD II โดยระบบนี้จะมีโหมดการขับขี่ทั้งหมด 4 โหมด ได้แก่ 2H ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ (2WD High-Range) โหมด 4H (4WD High-Range) ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Full-Time All Wheel Control , โหมด 4HLc ระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออัตราทดความเร็วสูง (4WD High-Range with Locked Transfer) และ โหมด 4LLc ระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออัตราทดความเร็วต่ำ (4WD Low-Range with Locked Transfer) นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกระบบการทดกำลังตามสภาพเส้นทางออฟโรด ได้อีก 4 รูปแบบ ได้แก่ Gravel, Mud/Snow, Sand และ Rock เท่านั้นยังไม่พอ รถรุ่นนี้ ยังบรรจุ Drif Lock หรือ ระบบล็อกเฟืองท้ายเพื่อช่วยลดอาการล้อฟรี เสริมสมรรถนะบนเส้นทางออฟโรดสุดโหดอีกด้วย

              ไม่เพียงแค่ระบบขับเคลื่อนล้ำ ๆ ที่บรรจุเอาไว้เท่านั้น All New Mitsubishi Triton ยังมีตัวช่วยที่เหมาะกับชาวออฟโรดอีกอย่างหนึ่งซึ่งก็คือระบบกล้องรอบทิศทาง หรือ ระบบ Multi Around Monitor ที่ช่วยแสดงภาพแบบ Bird Eye View ทำให้ชาวออฟโรดสามารถดู “ไลน์” รอบคันได้เอง ช่วยให้สามารถขับผ่านอุปสรรคที่อยู่ใน “มุมอับสายตา” ไปได้แบบง่าย ๆ

              ในการเดินทางช่วงนี้ All New Mitsubishi Triton ก็สามารถแผลงฤทธิ์ แสดงสมรรถนะออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพละกำลังที่เหลือเฟือ แม้ว่าเราจะใช้เพียงโหมด 4H เท่านั้น ก็สามารถพาคณะของเราลัดเลาะผ่านเส้นทางขรุขระ ที่ลื่น ๆ ด้วยฝุ่นละเอียดมาทับถมอยู่บนเส้นทาง ในช่วงที่ต้องปีนป่ายทางชันก็ทำได้ดี การใช้ Paddle Shift ในบางช่วงเพื่อช่วยเพิ่มอัตราทดเกียร์สำหรับการปีนเนินชัน หรืออาศัยเป็นเอนจินเบรก ก็ทำได้ดี ตอบสนองการสั่งงานได้อย่างฉับไว โดยรวมแล้วถือได้ว่าเหลือเฟือในสภาพเส้นทางแบบนี้

              นอกเหนือจากเรื่องของเครื่องยนต์ และชุดเกียร์ที่ลงตัวแล้ว  All New Mitsubishi Triton ก็ยังบรรจุเทคโนโลยี ตัวช่วยในการขับขี่ และความปลอดภัยเอาไว้แบบเต็มพิกัด ไม่แพ้รุ่นพี่ในสายเอสยูวีอย่าง Mitsubishi Pajero Sport เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าซึ่งนอกเหนือจะเปิด-ปิดอัตโนมัติได้แล้ว ก็ยังเสริมเอาไว้ด้วยระบบปรับระดับไฟสูง-ต่ำ อัตโนมัติ (Automatic High-Beam – AHB) เพื่อความสะดวกสบาย และความปลอดภัยสำหรับการขับขี่ในยามค่ำคืน โดยระบบจะตรวจจับแสงไฟจากรถที่สวนมาทางด้านหน้า เพื่อปรับระดับการทำงานของไฟสูงและไฟต่ำโดยอัตโนมัติ

              ระบบเตือนการชนด้านหน้าตรง (Forward Collision Mitigation System – FCM) พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว ซึ่งจำทำงานผสมผสานระหว่างเรดาร์ และกล้องจับระยะที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้ารถมาคำนวณระยะทาง และความเร็วของรถคันหน้า หากพบว่าความเร็วไม่สัมพันธ์กันจนมีแนวโน้มที่จะชนกันกับรถคันหน้า ระบบจะส่งสัญญาณเตือน พร้อมช่วยชะลอความเร็วให้โดยอัตโนมัติด้วยการเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัตเหตุให้น้อยลง หรือหากเหตุการณ์เกิดขึ้นกระทันหันจนหลีกเลี่ยงไม่พ้นจริง ๆ ก็เป็นการลดความรุนแรงของอุบัติเหตุลง

              นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะเมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรง และรวดเร็ว (Ultrasonic misacceleration Mitigation System – UMS) ระบบทำงานโดยใช้คลื่น Ultrasonic ตรวจจับวัตถุด้านหน้า หรือด้านหลังในระยะไม่เกิน 4 เมตร ในขณะที่เกียร์อยู่ตำแหน่ง “D” หรือ “R” หากมีการเหยียบคันเร่งผิดพลาดอย่างรุนแรง และรวดเร็ว เช่น กรณีที่ต้องการจะเหยียบเบรกแต่เหยียบผิดไปเหยียบบนแป้นคันเร่ง ระบบจะทำการตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะอัตโนมัติ พร้อมช่วยเบรกให้ โดยระบบนี้จะทำงานที่ความเร็วต่ำกว่า 10 กม./ชม. เพื่อช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการชน

              มีระบบเตือนด้านหลังขณะถอยออกจากช่องจอด(Rear Cross Traffic Alert – RCTA) ในขณะที่รถกำลังถอยหลัง หากเซนเซอร์ด้านหลังตรวจพบรถคันอื่นเข้ามาภายในรัศมีการตรวจจับ ระบบจะส่งเสียงเตือนและสัญญาณไฟกะพริบบนกระจกมองข้างทั้ง 2 ด้าน พร้อมแสดงข้อความเตือนบนหน้าจอแสดงผล

              ระหว่างการขับขี่บนท้องถนน ก็ยังมีระบบสัญญาณเตือนจุดอับสายตา พร้อมระบบเตือนขณะเปลี่ยนเลน (Blind Spot Warning with Lane Change Assist – BSW with LCA)ที่ระบบจะยิงสัญญาณออกไปเพื่อตรวจจับรถที่วิ่งอยู่ในเลนถัดไปทางด้านหลัง ในระยะประมาณ 70 ม. และส่งสัญญาณไฟเตือนบนกระจกมองข้างให้ผู้ขับขี่ทราบว่ามีรถอยู่ในจุดอับสายตาพร้อมส่งเสียงร้องเตือนย้ำอีกครั้งเมื่อมีการเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวเพื่อจะเปลี่ยนเลน

              มีระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist System – HSA) ช่วยป้องกันรถไหล เมื่อต้องออกตัวบนทางลาดชัน

              ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Active Stability Control – ASC) ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวของรถ ในสภาวะที่รถเสียสมดุล เพื่อป้องกันการลื่นไถลออกนอกเส้นทาง เช่น กรณีหลุดโค้งเมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ถนนลื่น หรือหักหลบกะทันหันโดยจะทำงานร่วมกับระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล (Active Traction Control – TCL) โดยระบบจะตรวจจับลักษณะการหมุนของล้อที่ควรจะมีความสัมพันธ์กันทั้ง 4 ล้อ ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติ ระบบก็จะเข้าไปช่วยควบคุมการหมุนของล้อให้หมุนอย่างสมดุล โดยจะทำงานร่วมกับระบบเบรกเพื่อลดอาการหมุนฟรีของล้อ อันจะก่อให้รถสูญเสียการยึดเกาะถนน ทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบการแหกโค้ง หรือรถเสียหลักให้น้อยลง

              สำหรับระบบเบรกที่ถือเป็นอุปกรณ์หลักอีกชิ้นที่ขาดเสียไม่ได้ในรถทุกคัน ก็ถูกติดตั้งเทคโนโลยีตัวช่วยต่าง ๆ เอาไว้แบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกแบบป้องกันล้อล็อก (Anti-Lock Braking System – ABS , ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Brake Force Distribution – EBD) , ระบบเสริมแรงเบรก (Brake Assist – BA) ทำให้รถสามารถเบรกได้อย่างมั่นใจในทุกสถานการณ์

              สำหรับในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้จริง ๆ All New Mitsubishi Triton ก็มาพร้อมกับถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วยถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง บริเวณหัวเข่าด้านคนขับ พร้อมม่านถุงลมนิรภัย ช่วยลดความรุนแรงที่เกิดจากการชนทั้งด้านหน้า และด้านข้าง โดยจะทำงานร่วมกันกับเข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับอัตโนมัติ

              สรุปโดยรวมคงต้องบอกว่าในนาทีนี้ All New Mitsubishi Triton ถือได้ว่าเป็นรถกระบะที่ครบเครื่อง และคุ้มราคาที่สุดในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นขุมพลังขนาดกำลังดี ไม่เล็ก หรือใหญ่เกินไป ทำให้มีกำลังเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไปในทุกรูปแบบไม่ว่าจะหนักเบาแค่ไหน ในขณะที่ก็ยังคงความประหยัดเอาไว้ได้ในระดับน่าพอใจ พร้อมชุดเกียร์ที่ส่งกำลังได้อย่างต่อเนื่องนุ่มนวล ช่วงล่างและพวงมาลัยที่เซ็ตมาอย่างลงตัว ช่วยให้การคอนโทรลรถแม่นยำ ขับง่าย แต่อาจจะนุ่มไปนิดในรุ่น 4 ประตู สำหรับคนที่ชื่นชอบรถที่ช่วงล่างแข็งหน่อย หรือต้องการเอาไปบรรทุกหนัก แต่หากเป็นคนที่ใช้เป็นรถอเนกประสงค์ ขนคนเป็นหลัก บรรทุกบ้างแต่ไม่หนักมากนักแล้วน่าจะลงตัวเป็นที่สุด เพราะนั่งสบาย นุ่มนวล ในระดับน้อง ๆ รถเอสยูวีเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีระบบเทคโนโลยีที่บรรจุเอาไว้แบบครบถ้วนเหนือรถกระบะรุ่นอื่นที่มีราคาใกล้เคียงกัน..สำหรับคนที่มองหารถกระบะอยู่แนะนำให้ลองเข้าไปชม ไปขอทดลองขับดูครับ เพราะรถรุ่นนี้ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียว

Visitors: 879,799