ALL NEW HONDA CR-V TEST DRIVE ลุยภูเก็ต..ทดสอบรถเอนกประสงค์ขุมพลังดีเซลจากฮอนด้า

2 มิถุนายน 2560 10.30 น. ท่าอากาศยานภูเก็ต

          ผมเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ตหลายครั้งแล้ว แต่สำหรับการเดินทางในครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่น ๆ เพราะเป็นการเดินทางมาเพื่อทดสอบรถยนต์เอนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างฮอนด้า ซึ่งก็คือ All New CR-V ทำไมผมถึงบอกว่ารถรุ่นนี้เป็นการปฏิวัติในความเป็นฮอนด้า นั่นก็เพราะว่าเจ้า All New CR-V คันนี้ บรรจุเครื่องยนต์ดีเซลเอาไว้ ใช่ครับ..คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ เพราะภายใต้ฝากระโปรงของรถคันนี้อัดแน่นไว้ด้วยเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบรุ่นแรกของประวัติศาสตร์ฮอนด้าเอาไว้

 

           สำหรับการทดสอบครั้งนี้ เริ่มต้นสตาร์ทที่โรงแรม Renaissance Phuket Resort & Spa โดยหลังจากที่ทีมงานของฮอนด้า ออโต้โมบิล ได้อธิบายรูปแบบการทดสอบและเส้นทางเรียบร้อย ขบวนรถ All New CR-V ทั้ง 8 คันแบ่งออกเป็นดีเซล 4 คัน และเบนซิน 4 คันก็เดินทางมุ่งหน้าไปสู่ Kuraburi Greenview Resort ซึ่งเป็นจุดพักรับประทานอาหารเที่ยงและสลับคนขับตามที่ทีมงานกำหนด ซึ่งมีระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร แต่งานนี้การขับขี่ของผมจะพิเศษนิดหน่อย เนื่องจากเพื่อนร่วมทริปขับรถไม่คล่อง ผมจึงรับหน้าที่เหมาขับคนเดียวทั้งขาไปและขากลับรวมเกือบ 300 กิโลเมตร เรียกว่าได้สัมผัสกับเจ้า All New CR-V รุ่นใหม่นี้อย่างเต็มที่ทีเดียวครับ

 

          รถคันแรกที่ผมขึ้นไปนั่งทดสอบ เป็นรถรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ที่มีสเปกคร่าว ๆ คือ เป็นเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร DOHC 4 สูบ 12 วาล์ว i-VTEC ที่ให้แรงม้าสูงสุดที่ 173 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ 6,200 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุด 224 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ CVT ส่วนระบบขับเคลื่อนรถที่นำมาทดสอบครั้งนี้เป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ AWD ครับ

 

         เมื่อแรกเข้าไปนั่งปรับตำแหน่งที่นั่งในรถ ก็รู้สึกได้ว่าเบาะนั่งโอบกระชับ นั่งสบาย ความนุ่มของเบาะกำลังดี ไม่นุ่มเกินไป หรือแข็งเกินไป ระบบปรับไฟฟ้าก็ปรับได้ละเอียดตามความต้องการ เพดานรถสูงพอสมควร ด้วยความสูงของผมที่มากกว่า 180 เซ็นติเมตรเมือปรับเบาะจนพอเหมาะ ก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดอะไร Headroom ยังมีระยะเหลือพอสมควร ทั้งที่เมื่อมองจากภายนอกตัวรถเหมือนจะเตี้ยกว่าเดิม เมื่อมองผ่านกระจกหน้าออกไปทัศนวิสัยก็ชัดเจนดี

 

         เอาล่ะครับ..เริ่มขับกันเลย เมื่อขับไปสักพัก ก็พบว่า All New CR-V รุ่นเบนซินนี้เป็นรถที่ขับได้คล่องตัวมาก ๆ ตัวรถไปใหญ่เทอะทะ อัตราเร่งดี เร่งแซงในการใช้งานปกติทำได้สบาย ๆ แต่ในช่วงที่คิ๊กดาวน์ อย่างตอนเร่งแซง รอบจะกวาดขึ้นสูงตามสไตล์รถเกียร์ CVT ทำให้เสียงเครื่องยนต์เข้ามาในห้องโดยสารพอสมควร แต่หากขับปกติรถรุ่นนี้ถือว่าเป็นรถที่เก็บเสียงได้ดีรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว โดยในขณะที่ขับด้วยความเร็วประมาณ 120 กม./ชม. เสียงของลมปะทะกระจกมองข้างที่ดีจะเป็นปัญหาของรถเกือบทุกรุ่นก็แทบจะไม่มีแทรกเข้ามากวนใจแม้แต่นิดเดียว

 

         สำหรับเส้นทางที่ทีมงานจัดให้พวกเราวิ่งในคราวนี้ เป็นเส้นทางที่มีความคดโค้ง มีจุดเลี้ยวหนัก ๆ อยู่หลายจุด ซึ่งเจ้า All New CR-V เบนซินก็แสดงประสิทธิภาพของช่วงล่างออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้การเข้าโค้งหนัก ๆ ทำได้อย่างราบรื่น ง่ายดาย โดยสไตล์การเซ็ตช่วงล่างที่ทีมงานวิศวกรจัดมาให้รถคันนี้จะเป็นแนวนุ่มนวล แต่หนึบ เมื่อขับทัดร่องถนน หรือลูกระนาด จะซับแรงได้ดี ไม่กระแทกจนหัวสั่นหัวคลอน แต่เมื่อต้องเข้าโค้งก็แทบไม่มีการอาการเหวี่ยง หรือโคลงตัวตามสไตล์รถเอสยูวีเลย อารมณ์เหมือนขับรถเก๋งหรู ๆ ที่สูงหน่อยแค่นั้นเอง ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือเบรกดีผิดหูผิดตา เพราะถ้าคนที่ขับฮอนด้ามานาน ๆ จะรู้ว่าสไตล์การเซ็ตเบรกของฮอนด้าจะออกแนวนุ่ม ๆ หน่อย จนบางครั้งจะรู้สึกว่าเหมือนรถไหล ๆ ทำให้ต้องเพิ่มน้ำหนักเท้ามากขึ้น แต่รถรุ่นนี้เซ็ตเบรกมาได้เป๊ะมากครับ แตะเบรกครั้งแรกทำเอาเกือบหัวทิ่มเลยทีเดียว

 

          ด้วยความขับสบายของรถ All New CR-V เพียงแค่ชั่วโมงกว่า ๆ เราก็เดินทางมาถึง Kuraburi Greenview Resort จุดพักกินข้าวกลางวันของเรา หลังจากอิ่มหนำสำราญกันเรียบร้อย ก็เป็นการเดินทางขากลับ ซึ่งคราวนี้ผมเปลี่ยนมาขับรถในรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นไฮไลต์ของการทดสอบครั้งนี้กัน

         โดยพื้นฐานรูปแบบการดีไซน์ทั้งภายนอกและภายในของ All New CR-V ทั้ง 2 รุ่น จะเหมือนกันแทบทั้งหมด แต่ภายในรถจุดที่แตกต่างก็คือในเรื่องของชุดเกียร์ ซึ่งในรุ่นเบนซินนั้นก็เป็นคันเกียร์แบบปกติที่เราคุ้น ๆ กัน แต่ในรุ่นดีเซลนี้คันเกียร์หายไปครับ รถรุ่นนี้ไม่มีคันเกียร์แบบที่เราคุ้นเคยกันแล้วแต่เปลี่ยนมาเป็นแบบปุ่มกด ซึ่งดูไฮเทคทันสมัยมากกว่าเดิม โดยสเต็ปเกียร์นั้นก็ยังเรียงตามปกตินั่นแหละครับ เร่ิมต้นจากบนสุดเป็นเกียร์ P ไล่ลงมาเป็น R และ N ตามลำดับ ปิดท้ายด้วยปุ่มล่างสุดเป็น D/S โดยทั้งหมดจะเป็นปุ่มกดลงตรง ๆ เว้นเกียร์ R จะเป็นเป็นลักษณะดึงเข้าหาตัว เป็นการป้องกันการเข้าเกียร์ผิด ส่วนเกียร์ D และ S นั้น หากกด 1 ครั้งก็จะเป็นเกียร์ D หากกด 2 ครั้ง หรือกดซ้ำระหว่างที่ขับอยู่เกียร์ D รถก็จะเปลี่ยนเป็นเกียร์ S หรือโหมดสปอร์ตครับ พร้อมทั้งเสริมการใช้งานด้วย Paddle Shift ซึ่งไม่มีในรุ่นเบนซินด้วยครับ อ่อ..หากใครถามว่าเป็นปุ่มกดแล้วเวลาจอดรถขวางตามห้างจะปลดเกียร์ว่างอย่างไร ทางฮอนด้าได้ทำสวิตซ์ปลดเกียร์แบบแมนนวลเอาไว้ที่ข้างคอนโซลกลางโดยมีฝาปิดเอาไว้ครับ เปิดมากดปุ่มปลดเกียร์ได้ง่าย ๆ เลยล่ะครับ

 

          ก่อนจะเล่าว่ารถขับดี หรือไม่ดีนั้น ขอเล่าสเปกคร่าว ๆ นิดนะครับ รถรุ่นนี้ มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1.6 DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว i-DTEC 2 Stage Turbo หัวฉีดไดเร็คอินเจ็คชั่นแบบคอมมอนเรล โดยรถรุ่นนี้สามารถให้แรงม้าสูงสุดได้ที่ 160 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ 4,000 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุดที่ 350 นิวตันเมตรที่ 2,000 รอบต่อนาที แต่จากการพูดคุยกับวิศวกรทำให้ทราบว่าเทอร์โบฯ จะเริ่มทำงานที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเพียงแค่ 1,250 รอบต่อนาทีเท่านั้น ทำให้มีแรงบูสต์ตั้งแต่ออกตัวกันเลยทีเดียว ส่วนระบบส่งกำลังของรถรุ่นนี้เป็นเกียร์อัตโนมัติแบบ 9 สปีด ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD

 

         เมื่อเร่ิมออกตัวส่งที่สัมผัสได้ถึงความแตกต่างก็คือเป็นรถที่เร่งได้ติดเท้ามากตามสไตล์รถแรงบิดสูงที่มาในรอบต่ำ เรียกว่ากดเท่าไหร่ก็มาเท่านั้น แต่สิ่งที่ผิดคาดก็คือรถไม่ดึงตามสไตล์รถเทอร์โบฯ เนื่องจากรถรุ่นนี้เป็นรถที่มีสเต็ปเกียร์ถึง 9 สปีด รวมทั้งมีการเซ็ตเอาไว้ให้ปรับเปลี่ยนเกียร์แบบนุ่มนวล ดังนั้นใครที่หวังว่าเป็นรถเทอร์โบฯแล้วจะดึงกันหลังติดเบาะ บอกเลยว่าไม่ใช่นะครับ แต่ถ้าเอากันเรื่องอัตราเร่งแล้วผมถือว่าโอเคเลยทีเดียว การเร่งแซงทำได้ดี แต่ไปแบบนุ่ม ๆ นะครับ เสียงเครื่องยนต์เบามาก ยิ่งในช่วงเร่งแซง เบากว่ารุ่นเครื่องเบนซินเกียร์ CVT ซะอีก

 

         สภาพเส้นทางในช่วงนี้ แม้ว่าจะมีโค้งน้อยกว่าขามาอยู่บ้างแต่ก็มีโค้งให้เล่นอยู่หลายช่วง ในความรู้สึกส่วนตัว ผมรู้สึกว่ารุ่นดีเซลนี้มีอาการโคลงตัวในโค้งมากกว่ารุ่นเบนซินอยู่เล็กน้อย อาจจะด้วยน้ำหนักรวมของตัวรถที่มากกว่ากันอยู่ประมาณ 70 กิโลกรัม โดยแบ่งเป็นน้ำหนักเครื่องยนต์ 40 กิโลกรับ และ Accessories อีก 30 กิโลกรัม และก็น่าจะด้วยปัจจัยเรื่องน้ำหนักนี่เองทำให้ผมรู้สึกว่าเบรกจะมีอาการไหลมากกว่ารุ่นเบนซินอยู่นิดหน่อยด้วย แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากลัวอะไร แค่ใช้ให้ชินนิดก็คอนโทรลอยู่แล้วล่ะครับ

         ส่วนในเรื่องความประหยัดนั้น ขอบอกว่าไม่ได้ทดลองอย่างจริงจังเนื่องจากสภาพเส้นทางไม่อำนวยแต่ตามสเปกโรงงานนั้นในรุ่นดีเซลอยู่ที่ 18.9 กิโลเมตร / ลิตร ส่วนรุ่นเบนซินอยู่ที่ 12.5 18.9 กิโลเมตร / ลิตร ครับ

 

         สรุปโดยรวมรถ Honda All New CR-V ทั้ง 2 รุ่นเป็นรถที่น่าใช้ทั้งคู่ ถ้าเป็นเรื่องตัวรถและออปชั่นผมว่าพอ ๆ กัน เหมาะกับคนที่ต้องการรถเอนกประสงค์คันไม่ใหญ่นัก เน้นคล่องตัว หาที่จอดรถง่าย ๆ ใช้ในเมืองก็ได้ วิ่งทางไกลออกต่างจังหวัดก็ดี ตัวรถดูหรูหรา โฉบเฉี่ยว มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน แต่หากให้แบ่งตามเครื่องยนต์ ก็ต้องบอกว่าตัวเบนซินจะได้เรื่องความนุ่มนวล ขับสบาย ๆ ตามสไตล์เกียร์ CVT ถ้าให้บอกว่าเหมาะกับใครก็น่าจะเป็นพวกสาวๆ นั่นแหละครับ หรือผู้ชายที่ขับรถเรื่อย ๆ ไม่ซิ่งมากนัก แต่มีสมรรถนะเพียงพอกับการใช้งานบนถนนทั่วไป ส่วนรุ่นดีเซลนั้นก็เหมาะกับคนที่ชอบรถที่มีแรงบิดเยอะๆ เหยียบแล้วตอบสนองเท้าไวๆ เพราะรุ่นนี้เหยียบแล้วมาตามเท้าครับ แม้ว่าจะไม่ได้ดึงจนหลังติดเบาะชัดเจนก็ตาม แต่ก็เป็นรถที่ขับสนุกไม่น้อย แถมช่วงล่างก็ดีเข้าโค้งได้มันไม่แพ้รถเก๋งเลยทีเดียว เบรกก็ดี แถมมีระบบตัวช่วยในการขับขี่มากมายแบบจัดเต็ม เช่นระบบป้องกันล้อล็อค ABS, ระบบกระจายแรงเบรก EBD,ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง VSA,ระบบช่วยควบคุมพวงมาลัย MA-EPS ฯลฯ สำหรับผู้ที่สนใจ ไปลองขับกันได้แล้วที่โชว์รูมฮอนด้าทุกสาขาครับ

 

 

Visitors: 880,189