Test Drive : MG GS 1.5 Turbo ขับเอสยูวีสายพันธ์ุอังกฤษ ตะลุยแดนอิสาน อุดร – ขอนแก่น – บุรีรัมย์ – กรุงเทพฯ

          ในปี ค.ศ. 1924 Morris Garages แบรนด์รถยนต์สัญชาติอังกฤษได้ถือกำเนิดขึ้น และพัฒนาต่อเนื่องมากว่า 90 ปี ภายใต้ตัวย่อ MG ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี ปัจจุบัน MG มีศูนย์กลางทางด้านการออกแบบทั้งในด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน และด้านเทคนิคอยู่ที่เมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ ส่วน MG ในประเทศไทย เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SAIC หรือรัฐวิสาหกิจที่ร่วมทุนผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ จากประเทศจีน และเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ของไทย 

           นับจากที่ MG เข้ามาเปิดตัวในประเทศไทย ภายในระยะเวลาประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของ MG ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นในกลุ่มผู้ใช้รถชาวไทย เพราะแม้จะเป็นการร่วมทุนระหว่างจีนและไทย แต่ผู้ที่ออกแบบและควบคุมการผลิตก็ยังคงเป็นทีมงาน MG จากประเทศอังกฤษ ทำให้รถ MG ที่ขายอยู่ในประเทศไทย ยังคงพกพาดีเอ็นเอ จากเมืองผู้ดี มาอย่างเต็มเปี่ยม

           โดยก่อนหน้านี้ประมาณปีเศษ ค่าย MG ได้เปิดตัวรถเอสยูวีขนาดกระทัดรัดอย่าง MG GS ในรุ่น 2.0 ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าให้มาเป็นเรือธงประจำค่าย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทย อยู่พอสมควร 

           ต่อมาเมื่อประมาณปลายปี 2016 ที่ผ่านมาค่ายรถจากเมืองผู้ดีก็ได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่าง MG GS 1.5 Turbo ขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นรถที่ขับขี่ง่าย เหมาะกับผู้ขับขี่ทุกกลุ่ม ทั้งชายและหญิง และล่าสุดค่าย MG ก็ได้เชิญทีมงาน autoindy.net ของเราไปร่วมทดสอบรถรุ่นนี้ บนเส้นทางประมาณ 600 กิโลเมตร โดยเริ่มวิ่งจากจังหวัดอุดรธานี ไปยังจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ ย้อนกลับมานครราชสีมา ก่อนจะมุ่งสู่กรุงเทพฯ

เริ่มต้นการทดสอบ..ขับประหยัด

           การเดินทางของคณะทดสอบที่ประกอบด้วยสื่อมวลชนกว่า 20 ชีวิตจากสื่อต่าง ๆ เริ่มต้นขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขึ้นเครื่องบิน ผ่านน่านฟ้าไปสู่สนามบินอุดรฯ จากจุดนี้ก็มีรถมารับชาวคณะทั้งหมดไปยังโชว์รูม MG อุดรธานี เพื่อเยี่ยมชมโชว์รูมแห่งนี้พร้อมรับบรีฟข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถ และเส้นทางการขับขี่ในช่วงแรก เพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดขอนแก่น

           แต่ก่อนที่จะขับรถทดสอบกัน เรามารู้จักกับ MG GS 1.5 Turbo กันแบบคร่าว ๆ กันก่อนนะครับ รถรุ่นนี้ หากเปรียบเทียบภายนอกกับรุ่นพี่ 2.0 ลิตรนั้น ก็จะมีข้อแตกต่างกันเพียงแค่ล้ออัลลอยด์ที่เปลี่ยนจาก 18 นิ้ว มาเป็น 17 นิ้ว และไม่มีปลายท่อสแตนเลส กับที่ฉีดน้ำล้างไฟหน้า ส่วนเครื่องยนต์  1.5 Turboรุ่นใหม่นี้ มาพร้อมกับแรงม้า 167 ตัว และแรงบิด 250 นิวตัน-เมตร ที่ 1700-4400 รอบต่อนาที พร้อมส่งถ่ายกำลังลงสู้พื้นถนนด้วยชุดเกียร์อัตโนมัติแบบคลัตช์คู่ TST - 7 สปีด

           การทดสอบในช่วงแรก กับระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร เป็นการขับทดสอบอัตราการบริโภคเชื้อเพลิง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการขับประหยัดน้ำมันนั่นเอง ซึ่งเหล่าบรรดานักทดสอบทั้งหลายก็งัดกลยุทธ์ต่าง ๆ มาแข่งขันกันแบบไม่มีใครยอมใคร ซึ่งเมื่อจบการวิ่งช่วงแรกนี้ ก็พบว่าเจ้า MG GS 1.5 Turbo นี้สามารถให้ค่าเฉลี่ยการบริโภคน้ำมันอยู่ที่ตัวเลขประมาณ 19 กิโลเมตรต่อลิตร โดยมีตัวเลขที่น่าตกใจก็คือมีรถคันหนึ่งในกลุ่มที่ ใช้น้ำมันไปน้อยมากด้วยระยะทาง 110 กิโลเมตร แต่ใช้น้ำมันไปเพียง 3.9 ลิตร  ซึ่งหมายถึงว่ารถคันนี้สามารถวิ่งได้ด้วยน้ำมัน 1 ลิตรกับระยะทางเฉียด ๆ 30 กิโลเมตรเลยทีเดียว

          หลังจากการทดสอบในช่วงแรกจบลงชาวคณะทั้งหมดก็เข้าพักที่โรงแรม Avani ขอนแก่น เพื่อพักผ่อนเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเดินทางในวันรุ่งขึ้นกับระยะทางอีก 600 กิโลเมตร เพื่อกลับสู่กรุงเทพ

ทดสอบวันที่ 2 - เส้นทาง 600 กิโลเมตร

          เช้าวันที่สอง ขบวนขับออกจากโรงแรมมุ่งหน้าสู่จังหวัดชัยภูมิ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่โชว์รูม MG ชัยภูมิ ระยะทางในช่วงนี้อยู่ที่ประมาณ 140 กิโลเมตรโดยผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้ขับขี่ในช่วงนี้ โดยเมื่อแรกที่เข้าไปนั่งประจำอยู่ในตำแหน่งคนขับ ก็พบว่าเบาะนั่งของ MG GS 1.5 Turbo นั่งสบาย และโอบกระชับตัวได้ดีพอสมควร แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเบาะจะแข็งไปสักหน่อย เบาะนั่งถูกดีไซน์ให้ตำแหน่งการนั่งค่อนข้างสูงแม้ว่าปรับเบาะลงสุดแล้วก็ตาม ซึ่งก็เป็นสไตล์ของรถเอสยูวีทั่วไป ซึ่งข้อดีของการนั่งแบบนี้ก็คือจะได้ทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่นั่นเอง ส่วนการตกแต่งภายในนั้นก็ดูดีในระดับหนึ่ง ชุดกรอบเครื่องเสียงคอนโซลกลางเป็นแบบ Piano Black ช่วยเพิ่มความหรูหรา แต่วัสดุส่วนอื่น ๆ เช่นแผงข้างประตูดูเรียบไปนิด แต่เมื่อเทียบกับสนนราคาแล้วก็ถือว่าเหมาะสม

          เส้นทางในช่วงแรกนี้ทางทีมงาน MG ได้เลือกใช้ถนนสายรอง ที่เป็นเลนสวน มีทางคดโค้งพอสมควร ประกอบกับมีรถยนต์บนถนนอยู่ไม่น้อย ทำให้ต้องรีดสมรรถนะของเครื่องยนต์ 1.5 ออกมาอย่างเต็มที่ในหลาย ๆ จุด โดยเฉพาะเมื่อต้องเร่งแซง ซึ่งเครื่องยนต์ และชุดเกียร์ของ MG GS 1.5 Turbo ก็ตอบสนองต่อคันเร่งรีดแรงม้าที่พกพามาถีง 167 ตัวออกมาได้อย่างว่องไว เกียร์เปลี่ยนได้อย่างนุ่มนวล แม้ว่าจะต้องปรับต้วให้เข้ากับจังหวะการใช้คันเร่งอยู่บ้าง เพราะจากการขับขี่พบว่าหากขับขี่ในโหมด D ปกติในจังหวะคื๊กดาวน์ หากกระแทกคันเร่งลงไปแบบเหยียบมิดในจังหวะเดียว จะเกิดอาการรอรอบอยู่นิดหน่อย ในทางกลับกันหากใช้วิธีเหยียบผ่อนแล้วเติมคันเร่งเป็นสองจังหวะ การเร่งจะทำได้ราบรื่นกว่า ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เพียงผู้ขับทำความรู้จักคุ้นเคยกับรถสักนิดก็สามารถเรียกสมรรถนะออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยในย่านใช้งานระหว่าง 80-140 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงความเร็วที่ปกติเราต้องใช้อยู่เป็นประจำ ทั้งในขณะเดินทาง หรือเร่งแซงบนถนนทั่ว ๆ ไปนั้น สามารถทำงานได้ทันใจเป็นอย่างดี 

           เมื่อเลือกใช้โหมด S หรือ Sport เกียร์จะตอบสนองได้อย่างรวดเร็วขึ้น พร้อมสามารถลากรอบให้สูงขึ้นก่อนที่จะเปลี่ยนเกียร์ทำให้รีดแรงม้า และแรงบิดออกมาได้มากกว่าเดิม ชนิดรู้สึกหลังติดเบาะได้พอสมควร พร้อมทั้งยังสามารถใช้ Paddle Shife ช่วยเปลี่ยนเกียร์ได้ด้วย ซึ่งเจ้า Paddle Shift นี้สำหรับผม รู้สึกว่าหากสามารถทำงานในขณะที่เข้าโหมด D ได้ด้วยก็จะดีมาก เพราะบางครั้งในการขับขี่ปกติ นั่นก็มีหลายจังหวะที่จะแค่เชนจ์เกียร์เพื่อเข้าเร่งแซง หรือเข้าโค้งในจังหวะสั้น ๆ เท่านั้น ถ้าทำได้ก็จะเพิ่มความสะดวกในการขับขี่ขึ้นไปอีก อ่อ..ลืมบอกไปครับ ว่าเมื่อผลักคันเกียร์มาที่โหมดสปอร์ตนี้ ไฟแผงหน้าปัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เพื่อให้เรารู้ด้วยว่ากำลังขับอยู่ในโหมดสปอร์ตด้วย

           ส่วนเรื่องของช่วงล่างนั้น MG GS 1.5 Turbo ใช้ช่วงล่างหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังแบบอิสระมัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง โดยทางวิศวะกรได้เคลมว่าได้มีการปรับปรุงให้นุ่มนวลกว่ารุ่น 2.0 อยู่ประมาณ 30% ซึ่งฟิลลิ่งที่แสดงออกมาจากการขับขี่ในช่วงนี้ก็พบว่า MG GS 1.5 Turbo เป็นรถที่ขับง่าย ขับสนุก ช่วงล่างที่ถูกปรับปรุงใหม่ให้มีความนุ่มนวลขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังมีความแน่นหนึบแบบสปอร์ตอยู่พอสมควร สามารถเข้าโค้งหนัก ๆ ได้อย่างมั่นใจ  รวมทั้งยังมีระบบตัวช่วยต่าง ๆ อีกมากมายมาช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมการทรงตัว SCS – Stability Control System ,ระบบป้องกักนการลื่นไถลเมื่อลดเกียร์ต่ำอย่างฉับพลัน MSR – Motor Control Slide Retainer , ระบบควบคุมการเบรกในขณะเข้าโค้ง CBC – Curve Brake Control 

          เมื่อจบการทดสอบในช่วงแรก ผมก็เปลี่ยนตำแหน่งตัวเองไปเป็นผู้โดยสารตอนหลังบ้าง ซึ่ง MG GS 1.5 Turbo ก็ดีไซน์ตำแหน่งของเบาะได้เป็นอย่างดี โดยเบาะหลังสามารถปรับเอนลงจากปกติได้อีก 14 องศา ส่วนระยะเลครูม หรือพื้นที่วางขาก็กว้างเหลือเฟือ แม้ว่าผมจะมีความสูงถึงกว่า 180 ก็ยังนั่งไม่ติดขา ซึ่งทำให้นั่งสบายไม่เมื่อยล้า แม้ว่าจะนั่งยาวตลอดระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตรที่เหลือก็ตาม

           สรุปโดยรวม รถ MG GS 1.5 Turbo ถือเป็นรถที่ให้ออปชั่นต่าง ๆ มาแบบครบเครื่อง มีสมรรถนะที่เกินพอสำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป รวมทั้งยังเป็นรถที่ขับง่าย ขับสนุก ขับได้อย่างมั่นใจโดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยที่บรรจุมาอย่างจัดเต็ม ทั้ง Active Safty และ Passive Safty นอกจากนี้ยังมีระบบ InkaNet ที่ช่วยให้เจ้าของสื่อสารกับรถได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะตรวจสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ เตือนความผิดปกติของเครื่องยนต์ โทรศัพท์ รับส่งข้อความผ่านหน้าจอวิทยุรถยนต์  เป็นเลขาส่วนตัวอำนวยความสะดวกในการติดต่อ MG Call Centre หรือแม้แต่ช่วยวางแผนการเดินทาง ฯลฯ และยิ่งเมื่อเห็นตัวเลขราคาที่ไม่ถึงล้าน ก็ยิ่งเป็นรถที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าคุ้มค่าอีกคันหนึ่งในตลาดรถเมืองไทยเลยทีเดียว

 

 

Visitors: 878,892