ALL NEW MITSUBISHI PAJERO SPORT : FIRST IMPRESSION..ลองขับระยะสั้นในสนามทดสอบ

    

          หลังจากที่ All New Mitsubishi Pajero Sport เปิดตัวไปสด ๆ ร้อน ๆ ในงาน BIG MOTOR SALE 2015 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมาในรูปแบบ World Premiere ถัดไปแค่ไม่กี่วัน หมายเชิญให้ทีมงานของเราไปสัมผัสกับเจ้ารถเอนกประสงค์รุ่นนี้ก็ถูกส่งมาถึงมือของผม โดยการทดสอบในครั้งนี้เป็นการทดลองขับในรูปแบบ First Impression ระยะทางสั้น ๆ ภายในสนามทดสอบของมิตซูบิชิที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 

          โดยเราเริ่มเดินทางด้วยรถตู้ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันทดสอบ ไปยังสนามทดสอบที่ลึกลับซับซ้อนไม่ใช่น้อย ชนิดที่เรียกว่าหากมาเองคงมีหลงกันบ้างเลยทีเดียว เมื่อไปถึงก็พบว่าด้านในสนามทดสอบ ถูกเซ็นเอาไว้เป็น 3 สถานีประกอบด้วย สถานี Safety, สถานี Comfortable และ สถานี Performance โดยบรรดาสื่อมวลชนกว่า 100 ชีวิตที่มาร่วมในงานนี้จะถูกแบ่งออกเป็นกรุ๊ป ๆ และวนสลับกันทดสอบจนครบทุกสถานี

สถานี Safety

          ในสถานี Safety นี้ จะถูกเซ็ตให้เราได้ทดสอบระบบความปลอดภัย 4 อย่าง โดยมีเจ้าหน้าที่ขับให้นั่งและบรรยายการทำงานของแต่ละระบบ ซึ่งประกอบด้วย

          ระบบ BSW - Blind Spot Warning หรือ ระบบสัญญาณเตือนจุดอับสายตา ซึ่งระบบนี้จะทำงานโดยใช้การยิงคลื่นอัลตร้าโซนิค จากตัวเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณมุมกันชนทั้ง 4 ด้าน เมื่อมีการตรวจจับว่ามีวัตถุเข้ามาสู่จุดอับสายตา หรือจุดที่ไม่สามารถเห็นได้ในกระจกมองข้าง ก็จะส่งสัญญาณเสียงเตือนขึ้น พร้อมมีไฟสัญลักษณ์กระพริบบนกระจกมองข้าง ให้ผู้ขับขี่ได้ทราบว่ามีวัตถุอยู่ในตำแหน่งที่มองไม่เห็น โดยระบบนี้จะทำงานที่ความเร็วระหว่าง 20-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะจับวัตถุในระยะห่างจากรถไม่เกิน 3 เมตร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุจากการเปลี่ยนช่องจราจรได้

          ระบบ FCM - Forward Collision Mitigation System หรือ ระบบเตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว และเบรกหยุดนิ่งโดยอัตโนมัติ ระบบนี้จะทำงานโดยใช้เรดาห์ ซึ่งยิงออกจากอุปกรณ์ที่ติดซ่อนเอาไว้บริเวณหลังโลโก้มิตซูบิชิที่ติดตั้งอยู่หน้ารถ เพื่อประเมินระยะห่างจากรถคันหน้าในช่องทางเดียวกัน หากพบว่าระยะห่าง และความเร็วไม่สัมพันธ์กัน จนอาจจะมีความเสี่ยงที่จะชนรถคันหน้า ระบบจะทำการเตือนเพื่อให้เบรกรถ พร้อมเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรก และเมื่อความเร็วต่ำกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบช่วยเบรกจะทำงานอัตโนมัติ เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะชนรถคันหน้าในช่องทางเดียวกัน เพื่อลดความเสียหายจากการชน โดยในการทดสอบนั้น เจ้าหน้าที่ทดลองใช้ระบบนี้โดยใช้ความเร็วคงที่ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วขับพุ่งเข้าหาท้ายรถจำลอง โดยระบบจะเบรกให้เมื่อตรวจพบว่าผู้ขับไม่ตอบสนองต่อการเตือน โดยจะเบรกในระยะสุดท้ายก่อนการชน และเป็นการเบรกที่ค่อนข้างรุนแรงเพื่อหลีกเลี่ยงการชน อย่างไรก็ตามการเบรกนี้จะเป็นการเบรกในระยะสั้น ๆ ประมาณ 3 วินาทีเท่านั้น ผู้ขับขี่จะต้องย้ำเบรกเองอีกครั้งหากต้องการให้รถหยุดนิ่งต่อไป

          ระบบ Multi-around Monitor หรือ กล้องมองภาพรอบคัน พร้อมเส้นแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของรถซึ่งแปรผันตามองศาการหมุนพวงมาลัย ทำงานโดยกล้อง 4 ตัวที่ติดตั้งเอาไว้รอบรถคือด้านหน้า ด้านข้างบริเวณใต้กระจกมองข้าง และด้านหลัง แล้วนำภาพทั้งหมด มาประมวลผลและแสดงภาพแบบ Bird's Eye View ผ่านจอบนคอนโซลกลาง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับมองเห็นภาพได้รอบตัวรถ เพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการจอดรถ ระบบนี้ช่วยให้การเข้าจอดทำได้ง่ายขึ้น ทั้งการจอดในช่องและการจอดขนานขอบทาง ภาพจากกล้องรอบรถและการแสดงภาพมุมสูง ช่วยให้จอดได้ตรงช่อง ไม่เอียงหรือเบี้ยว

          ระบบ UMS - Ultrasonic misacceleration Mitigation System หรือระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะเมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำงานโดยใช้คลื่นอัลตร้าโซนิคตรวจจับวัตถุด้านหน้า หรือด้านหลังในระยะไม่เกิน 4 เมตร ในขณะที่เกียร์อยู่ตำแหน่ง D หรือ R หากมีการเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ในช่วงความเร็วต่ำกว่า 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบจะทำการตัดกำลังเครื่องยนต์ไว้ประมาณ 5 วินาที เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดจากการชน โดยระบบนี้จำลองสถานการณ์การเผลอเหยียบผิดจากเบรกมาเป็นคันเร่ง ในขณะเดียวกันหากเป็นการเหยียบคันเร่งปกติที่ค่อย ๆ เหยียบ ระบบนี้จะไม่ทำงาน

สถานี Comfortable

          ในสถานีนี้ จะเน้นเรื่องความสะดวกสบาย ความนุ่มนวลในการขับขี่ หรือโดยสาร โดยการขับขี่ในสถานีนี้ ทีมงานจะนำทางให้ขับไปบนสภาพพื้นผิวถนนแบบต่างๆ ที่จำลองขึ้นตามรูปแบบถนนจริง ๆ ที่เราต้องพบเจออยู่เสมอในชีวิตประจำวัน เช่นการชับผ่านรอยต่อถนน ขับบนผิวถนนคอนกรีตที่ผิวหน้าหลุดออกไปเหลือแต่หินคลุกด้านบน ถนนยางมะตอยที่มีการปะซ่อม ถนนยางมะตอยที่มีการทรุดตัว การขับผ่านฝาท่อบนถนนคอนกรีต การขับผ่านปุ่มสะท้อนแสงบนถนน

ซึ่งโดยรวม Mitsubishi Pajero sport รุ่นนี้ ออกแบบช่วงล่างมาให้สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และมีเสียงรบกวนจากถนนเข้ามาในห้องโดยสารน้อยกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และนอกจากจะทดสอบเรื่องความสั่นสะเทือนและเสียงแล้ว ในสถานีนี้ ยังทดสอบในเรื่องความแคบของวงเลี้ยวด้วย โดยการให้เข้าโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4H แล้วขับอ้อมไพล่อนเป็นวงกลม เพื่อทดสอบวงเลี้ยวที่แคบไม่แตกต่างจากตอนขับด้วยระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ

 

สถานี Performance

ในสถานีนี้ เป็นการขับขี่บนเส้นทางเรียบ ๆ รอบนอกของสนามทดสอบ โดยกำหนดให้ใช้รถรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ และกำหนดความเร็วไว้ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมทั้งกำหนดความเร็วในแต่ละช่วงโค้งอย่างเคร่งครัด เพื่อเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก

สิ่งที่ทางทีมงานเน้นให้ผู้ทดสอบจับความรู้สึกคือเรื่องความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งเจ้าเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด ก็ทำงานได้อย่างราบรื่น แทบไม่รู้สึกถึงรอยต่อของเกียร์หากไม่จับผิดกันจริง ๆ ทั้งในโหมด D และโหมดสปอร์ต +/- จะมีบ้างก็ในช่วงเกียร์ต้น ๆ เท่านั้นที่พอจะรู้สึกได้นิดหน่อย

สำหรับระบบเกียร์โหมดสปอร์ตนั้น สามารถทำได้โดยการผลักเกียร์จากตำแหน่ง D ไปทางซ้าย หรือมาดึงที่ Paddle Shift ที่พวงมาลัยเลยก็ได้ โดยเมื่อเข้าสู่โหมดนี้แล้วจะสามารถลากรอบได้สูงขึ้นเพื่อเรียกพละกำลังมาได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่เมื่อเชนจ์เกียร์ หรือลดเกียร์ลงต่ำอย่างกะทันหัน หากความเร็วไม่สัมพันธ์กับอัตราทดเกียร์ ก็จะไม่สามารถลดเกียร์ลงมาได้ รถจะส่งสัญญาณเตือนว่าความเร็วสูงเกินไป ควรจะลดความเร็วลง แล้วจึงลดเกียร์ต่อไป ส่วนการเปลี่ยนเกียร์กลับมายังโหมด D นั้นก็แค่โยกคันเกียร์กลับมาได้ทันที หรือดึง Paddle Shift+ ค้างไว้ประมาณ 3 วินาทีครับ

          ในการขับในสถานีนี้ สิ่งที่สัมผัสได้อีกอย่างคือความนุ่มนวลและเป็นธรรมชาติของพวงมาลัย ซึ่งเกิดจากการคำนวณอัตราทดรอบเอาไว้อย่างเหมาะสม ไม่หนัก ไม่เบาเกินไป มีระยะหมุนที่กำลังดี ช่วยให้ควบคุมรถได้ง่าย ส่วนเบรกที่เปลี่ยนมาเป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อก็ตอบสนองได้ไวดี แตะเบา ๆ ก็อยู่ จนแรก ๆ ดูเหมือนจะเบรกแรงไปหน่อยด้วยซ้ำ ทำให้ต้องปรับตัวอยู่ติดหน่อย

          เมื่อทดสอบจบ ครบทุกสถานีเราก็รู้จักกับ All New Mitsubishi Pajero Sport ได้ดีขึ้น พร้อมกับความรู้สึกว่าเจ้ารถเอนกประสงค์รุ่นนี้ เป็นรถอีกคันที่น่าใช้มาก ๆ ทั้งในแง่ของสมรรถนะ และความคุ้มค่าของราคา

 

Visitors: 879,588